รู้เท่าทัน “สังคมออนไลน์” แค่กด “ไลค์” ก็อาจเจอ “คุก” (ชุติมา สิริทิพากุล)
ในปัจจุบัน ไม่ได้มีแต่เพียงสังคมทางกายภาพที่ให้มนุษย์ได้มาพบปะพูดคุยกัน หรือมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังมีอีกสังคมหนึ่งที่แม้จะเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน แต่แพร่กระจายเข้าสู่ความนิยมของคนอย่างรวดเร็ว
นั่นก็คือ “สังคมออนไลน์” หรือที่เรียกกันว่า “โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network)”
เป็นสังคมที่เราสามารถพูดคุยกันได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาก้าวเท้าออกจากบ้าน ไม่ต้องใช้เสียง จะใช้ก็เพียงการพิมพ์ตัวอักษร/อัพโหลดรูปภาพ เพื่อสื่อสารถึงกันเท่านั้น
แล้วสังคมออนไลน์ มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรบ้าง?
จากความคิดนี้เองที่ทำให้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “รู้รอบ ปลอดภัยใน Social Network” เพื่อเป็นการรู้เท่าทัน
ผศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA คณะบริหารธุรกิจ นิด้า กล่าวเริ่มต้นการเสวนาด้วยการอธิบายถึงความนิยมของเว็บไซต์ว่า ปัจจุบันนั้นที่สังคมออนไลน์ได้รับความนิยม เป็นเพราะการพัฒนาของเว็บไซต์ที่พัฒนาจาก web 1.0 เป็น 2.0 ที่เปลี่ยนกลุ่มผู้ใช้จากเดิมที่มี 2 กลุ่ม คือ ผู้สร้างเว็บรวมทั้งเนื้อหากับผู้ใช้เว็บไซต์ เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้สร้างเนื้อหา และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้เนื้อหาในเว็บไซต์ด้วย
นอกจากจะเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ใช้และผู้ควบคุมเนื้อหาในเว็บไซต์แล้ว ผศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน ยังบอกอีกว่า สังคมออนไลน์ยังเปลี่ยนแปลงการสื่อสารอีกด้วย
“สังคมออนไลน์ทำให้มีช่องทางใหม่ในการสื่อสาร รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันบางอย่างที่เรามองไม่เห็นในโลกแห่งความเป็นจริงเห็นชัดขึ้น ตัวอย่างเช่น ทำให้เราเห็นว่าเพื่อนเราคือ A ก็เป็นเพื่อนกับ B หรือรู้จักกันเหมือนกัน เนื่องจากเว็บอย่างเฟซบุ๊กสามารถบอกเราได้ว่า ระหว่างเรากับ A มีเพื่อนคนไหนร่วมกันบ้าง เป็นต้น”
“รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงการสร้างความสัมพันธ์ หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนด้วย กล่าวคือทำให้เราสามารถรักษาความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยไว้ได้ เช่น คนที่เพิ่งรู้จักหรือพบกันครั้งเดียวก็สามารถจะคุยหรือรักษาความสัมพันธ์ผ่านทางสังคมออนไลน์ไว้ได้” ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA คณะบริหารธุรกิจ นิด้า กล่าว
ไม่เท่านั้น สังคมออนไลน์ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้เป็นช่องทางการตลาดอีกด้วย
จากเดิมที่ต้องใช้สื่ออื่นๆ อย่าง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดของแบรนด์ต่างๆ เพราะการทำตลาดในเฟซบุ๊กนั้น ส่วนมากจะเป็นการทำตลาดแบบ ปากต่อปาก ที่ถือว่าเป็นการตลาดที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะมาจากคนที่เราเชื่อใจ
วุฒิไกร งามศิริจิตต์ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า บอกว่า หากมองในฐานะขององค์กรนั้น ต้องบอกว่าสังคมออนไลน์ยังไม่สามารถทำประโยชน์ให้องค์กรได้ แต่ก็เคยมีกรณีศึกษาอยู่ 1 กรณี คือ มีการทำงานร่วมกันของสมาชิกทีมหนึ่งซึ่งเวลามาประชุมกันนั้นไม่ค่อยมีใครกล้าแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อเปิดพื้นที่ในโลกออนไลน์ให้ลองเข้ามาพูดคุยกันแล้ว ปรากฏว่า มีความคิดสร้างสรรค์ออกมาจากแต่ละคน ทำให้พบว่าบนโลกออนไลน์นั้นมีพื้นที่ไว้ให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง
ส่วนด้านกฎหมายเกี่ยวกับสังคมออนไลน์นั้นก็น่าสนใจ
เพราะปัจจุบัน มีการละเมิดสิทธิ การทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก
วริยา ล้ำเลิศ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์นิด้า บอกว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์นั้นก็จะมี พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537,พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550, หรือจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา
บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่จนเป็นความเคยชินนั้นคือความผิด
ด้านลิขสิทธิ์การที่เรา เต้นเลียนแบบเพลง “กังนัมสไตล์” ที่กำลังโด่งดังอยู่ตอนนี้ ถ่ายเป็นวิดีโอแล้วนำไปอัพโหลดลงในเว็บไซต์อย่างยูทูบ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว หรืออย่างการที่เราชื่นชอบเพลงบางเพลงแล้วนำลิงก์ไปแปะไว้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของเรา ก็เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่
“ในประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่คุ้มครองเจ้าของเว็บไซต์ที่เป็นผู้ให้บริการอัพโหลดด้วย ว่าให้ลบวิดีโอต่างๆ ภายใน 14 วัน หากรู้ว่าวิดีโอนั้นผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่หากไม่ลบภายในระยะเวลาดังกล่าว เจ้าของเว็บจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้”
“เคยมีกรณีที่นักร้องอย่าง จัสติน บีเบอร์ ฟ้องร้องเว็บไซต์ยูทูบ ฐานที่ไม่ยอมลบมิวสิกวิดีโอของเขาออก รวมทั้งฟ้องร้องผู้อัพโหลดด้วยเพราะถือว่าทำให้รายได้จากยอดโหลดวิดีโอของเขาตกลง” ผศ.ดร.วริยากล่าว
อีกผู้หนึ่งที่ให้ความรู้ด้านกฎหมาย
ดร.วราภรณ์ วนาพิทักษ์ คณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวเสริมว่า การเผยแพร่คลิปเสียงต่างๆ อย่างเช่น ดาราบางคนที่ตกเป็นข่าวว่ามีคลิปเสียงหลุดนั้น ก็ถือเป็นความผิด รวมทั้งหากเราไปกดไลค์ หรือกดดิสไลค์ ก็จะมีความผิดไปด้วย เนื่องจากเมื่อเรากดไปแล้วจะทำให้เพื่อนๆ เรามองเห็น
คลิปนั้นได้ ก็ถือเป็นความผิดฐานเผยแพร่เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
“การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น ต้องรู้ทั้งโทษและประโยชน์ รวมทั้งระมัดระวังในการให้ข้อมูลด้วยว่าเป็นเว็บไชต์จริงหรือปลอม รวมทั้งต้องรู้ให้เท่าทันในการใช้งานด้วย” ดร.วราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย
เป็นบทสรุปที่น่าฟังอย่างยิ่งของงานเสวนาในครั้งนี้
ชุติมา สิริทิพากุล
หน้า 21 มติชนรายวัน ฉบับ วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555