ประชุมอินเทอร์เน็ตโลก เวที ICANN Meeting ครั้งที่ 41
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยจำนวนมาก คงไม่เคยได้ยินหน่วยงานที่ชื่อ ICANN (http://www.icann.org) กันมาก่อนแน่ ทั้งๆ เราทุกคนที่ออนไลน์ใช้อินเทอร์เน็ตกันได้นั้น ก็มาจากการพัฒนาและกำกับดูแลจากหน่วยงานนี้ตลอดมา
ICANN ย่อมาจาก Internet Cooperation for Assigned Names and Number เป็นองค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก (ข้อมูลจากเว็บมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย http://www.thnic.or.th) ระบุว่า ICANN เป็นองค์กรระดับบนสุดในโครงสร้างการบริหารงานและพัฒนาระบบโดเมนโลกที่ดำเนิน งานแบบไม่หวังผลกำไร (non-profit organization) มีโครงสร้างการดำเนินงานที่อาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ
หน้าที่และภารกิจของ ICANN คือสร้างและบริหารนโยบายต่างๆ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของโดเมนแก่ประชาคมอินเทอร์เน็ตโลกต้อง ประสานความร่วมมือและทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ต้องสร้างและดำเนินการกระบวนการฉันทามติ (consensus) เพื่อให้เป็นตัวแทนในการตัดสินใจแทนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลก
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่พิจารณาการ้องขอ การอนุมัติและการกำกับดูแลการใช้งานโดเมนระดับบน ทั้ง gTLDs (ยกตัวอย่างเช่น .com .net .org) และ ccTLDs (เช่น .th .cn .uk) ดูแลการดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องในระบบงานโดเมน (อย่าง Registry, Registrar และ Sponsor Organization) ให้ปฏิบัติงานตามสัญญาที่ผูกพันไว้
ภารกิจอื่นก็รวมไปถึงการกำกับดูแลนโยบายเมื่อเกิดกรณีพิพาทในโดเมนเนม การดูแลรับผิดชอบ root server และจัดสรรเลข IP ต่างๆ สุดท้ายก็ต้องประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ต่อสาธารณชน
ICANN จัดการประชุมใหญ่แบบนี้เป็นประจำทั่วโลก โดยจะหมุนเวียนจัดงานไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และที่สำคัญคือ ผู้ที่สนใจในกิจกรรมของการทำงานของ ICANN สามารถเข้าร่วมประชุมได้ การประชุมของ ICANN นี้ไม่มีค่าเข้างาน แต่มีรายละเอียดการประชุมแปลกๆ ที่เพิ่งเคยเห็นมาเล่าให้ฟังในบทความนี้
ด้วยความสนใจส่วนตัวต่ออินเทอร์เน็ตอย่างมาก นอกจากสนใจเรื่องการทำงานของอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังสนใจวิธีการบริหารจัดการ ดูแลนโยบายอินเทอร์เน็ตของหน่วยงานอย่าง ICANN มาโดยตลอด จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกหน่วยงานที่ ICANN เปิดช่องทางให้เป็นสมาชิกได้ นั่นคือ At-Large member (ALAC – http://alac.icann.org คำย่อ ALAC ออกเสียงว่า เอ-แหลก) และสมาชิกแบบที่ไม่ใช่กลุ่มเพื่อการค้าอย่าง NCUC (Noncommerical Users Constituency – http://www.ncdnhc.org) มาหลายปีดีดัก
เมื่อทราบข่าวว่า มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNICF) ประกาศให้ทุนสนับสนุนค่าใช้งานมาร่วมงาน ICANN Meeting #41 ระหว่างวันที่ 19-24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ที่ประเทศสิงค์โปร์ ก็เลยส่งใบสมัครมาให้พิจารณาและได้รับการอนุมัติให้มาร่วมการประชุมนานาชาติ ครั้งนี้ได้ ก็ต้องขอขอบพระคุณทางมูลนิธิทีเอชนิค ณ ที่นี้ด้วย
เรื่องใหญ่สุดของการประชุม ICANN ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกไปแล้ว ก็คือ การที่คณะกรรมการเสียงข้างมากลงมติให้มีการอนุมัติจดโดเมนสกุลใหม่ได้เพิ่ม เติม โดยเป็นการลงมติยกมืออย่างเปิดเผย ต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุม (หรือเรียกว่าแบบ “ออฟไลน์”) และมีการถ่ายทอดสดไปยังผู้ที่สนใจรับฟัง (ถือว่าเป็นการร่วมประชุมแบบ “ออนไลน์”) ผลของมติครั้งนี้ จะทำให้โลกอินเทอร์เน็ตจะมีโดเมนสกุลใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายชื่อ ซึ่งเราก็คงจะได้เห็นและอาจได้ใช้ด้วย
ข่าวการผลการมติของคณะกรรมการ มีทั้งเป็นการรายงานแบบเอกสารบนเว็บ และมีวิดีโอคลิปที่เว็บหน้าแรกของ ICANN (http://www.icann.org) เอง ผู้ที่สนใจสามารถรับชมผ่านเว็บดังกล่าวได้
สิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก จากการที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุม ICANN ครั้งที่ 41 ที่ประเทศสิงค์โปร์ ก็คือ การได้เห็นการประชุมแบบไร้กระดาษเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ความที่เคยชินกับระบบการประชุมแบบไทยๆ นั่นคือ จะต้องมีเอกสารจดหมายเชิญประชุม มีการส่งกำหนดการเป็นกระดาษ เมื่อประชุมก็มีเอกสารประชุมที่เป็นกระดาษให้อ่านเป็นตั้งๆ สุดท้าย ประชุมเสร็จสิ้นผ่านไป ก็ต้องรอรายงานการประชุมเป็นกระดาษอีก แล้วการประชุมในครั้งถัดไป ก็ยังต้องมาเสียเวลาอ่านรายงานการประชุมเก่าก่อนที่จะเข้าสู่การประขุมได้
ทั้งหมดนี้ เสียเวลา สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งบุคคลและมีค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมและทำรายงานการ ประชุมอย่างมาก ต่างกับการประชุมแบบที่ ICANN จัด แบบคนละอารมณ์เลย
ในการประชุมของ ICANN จะมีผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ มาร่วมประชุมจากทั่วโลก ดังนั้น ในบางประเด็นของการประชุมจะต้องได้รับคำตอบกลับไปเพื่อดำเนินการต่อ (อาจเป็นการหารือ อาจเป็นการลงมติ เป็นต้น) มีการประชุมในกลุ่มย่อยของผู้มีส่วนได้เสียก่อน แล้วส่งต่อข้อสรุปของการประชุมจากกลุ่มย่อย ต่อไปยังกลุ่มใหญ่ขึ้น จนไปถึงระดับคณะกรรมการ ICANN
ในการประชุมแบบนี้ สามารถรับคำตอบได้ภายใน 1 วัน แต่เอาล่ะ ก่อนการจะส่งผลการประชุมเป็นทอด ๆ ได้นั้น ก็จำเป็นต้องมีการทำงานผ่านออนไลน์กันก่อน มีการวิเคราะห์วิจารณ์แก้ไขข้อเสนอผ่านอีเมลหรือเว็บไซต์ก่อนมาสรุปในการ ประชุมนี้
เครื่องมือที่ทำให้การประชุมทำได้รวดเร็วก็คือ คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ผู้เข้าประชุมทุกคนหิ้วคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมาคนละเครื่อง มาถึงก็เปิดเครื่องแล้วก็เริ่มพิมพ์ๆ ค่ะ เขาพิมพ์เนื้อหาของสิ่งที่ประชุมกันสดๆ ในเว็บของคณะทำงานกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่ม ข้อมูลพวกนี้ถือเป็นรายงาน
การประชุม ทุกคนตรวจทานเอกสารการประชุมสดๆ โหวตรับให้ผ่านไม่ผ่าน แล้วดำเนินการไปประชุมต่อกับคณะฯ อื่น เมื่อไปประชุมกับคณะอื่น ก็เปิดเนื้อหารายงานการประชุมที่ทำกันไปแล้วนั้น คุยกันต่อได้เลย ทำแบบนี้เป็นทอดๆ จึงทำให้ทำงานได้เร็ว และมีประสิทธิภาพอย่างมาก น่าประทับใจและควรนำมาเพื่อปรับปรุงวิธีการประชุมในประเทศเราบ้าง
เล่าเรื่องการประชุมยืดยาว ก็ยังอยากบอกต่อว่า การประชุมแบบ ICANN เป็นการประชุมที่เหนื่อยทรหดมาก หัวข้อการประชุมวันหนึ่งๆ เกือบ 20 หัวข้อ เป็นเรื่องของเทคนิค กฏหมาย และนโยบายที่มีผลกระทบต่อระบบอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้บัง คับใช้กฏหมายทั้งหลายทั้งมวล ถ้าใช้เวลาประชุมเอ้อระเหยอย่างไทยๆ นี่ สงสัยต้องประชุมกัน 3 เดือน (ไม่ใช่แค่สัปดาห์เดียวอย่างที่เป็นอยู่)
เหนื่อยแต่สนุก เป็นประสบการณ์ประทับใจ สำหรับผู้ที่อยากเข้าร่วมการประชุม ICANN บ้างนั้น การประชุมครั้งถัดไปจะเป็นการประชุมครั้งที่ 42 จะจัดที่เมือง Dakar ประเทศเซเนกัล ใครสนใจติดตามได้จาก http://meetings.icann.org
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ