บทความ

เศรษฐกิจสีเงิน หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์และกฎหมาย ตอนที่ 3/4 (ภูมินทร์ บุตรอินทร์)

on มีนาคม 16, 2020        by Administrator

บทนำ

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มุ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาในยุคเทคโนโลยี 4.0. โดยเฉพาะการพูดถึง 4 ปัจจัยทางเทคโนโลยีที่พลิกผันสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เราเรียกว่า ABCD กล่าวคือ A – Artificial intelligence & Automation / B – Block chain / C – Cybersecurity & Cloud computing / D – Data โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกนำมาเรียกว่าเป็นการพัฒนา *เศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy) [1] อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศต้องอยู่ภายใต้กรอบของบริบทสังคมโลก นั่นก็คือการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) การนำเอาปัจจัยทางเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย  ปัจจุบันนี้กลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้เห็นความสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้แต่ก็ทราบดีว่าส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้มีการทำรายงานชี้แจงภายหลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลว่าเทคโนโลยีนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจการเมืองและกฎหมายอย่างไร

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ผู้เขียนขอสรุปเพื่อนำเสนอตามหัวข้อดังต่อไปนี้ 1) ผลกระทบต่อสังคม 2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมือง 3) ผลกระทบต่อกฎหมายในปัจจุบัน 4) ทิศทางในอนาคต

3. ผลกระทบต่อกฎหมายในปัจจุบัน

การศึกษาวิจัยพบว่าประเด็นปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องแยกออกเป็นปัญหาต่าง ๆ คือ  เทคโนโลยีกับการนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เทคโนโลยีกับการละเมิด เทคโนโลยีกับการทำสัญญา เทคโนโลยีกับความสามารถในการเป็นผู้ทรงสิทธิ์ตามกฎหมาย การกำหนดนิยามของคำว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และการกำหนดสถานภาพทางกฎหมายของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยสรุปดังต่อไปนี้

3.1 เทคโนโลยีกับการนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์

เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะต้องนำเอาข้อมูลมาประมวลผล ดังนั้นประเด็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูล กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มแรกที่มีการออกกฎเกณฑ์ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีกฎระเบียบที่เรียกว่า General Data Protection Regulation หรือเรียกกันทั่วไปว่า GDPR นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ  The Consumer Right Directive 2011/83/EU  ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของกฎเกณฑ์ทั้งสองนั้นก็พบว่ากลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้เกิดคดีสำคัญที่วางบรรทัดฐานในการตีความกฎหมาย โดยคดีดังกล่าวนี้ คดีแรกชื่อว่า Frantisek ส่วนคดีที่สองชื่อว่า Lindquist คดีดังกล่าวได้มีการตีความคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” และมีการวางขอบเขตหรือวิธีในการเก็บข้อมูลที่เป็นข้อมูลประเภทต่าง ๆ เช่น เก็บข้อมูลประเภทใด วัตถุประสงค์ที่เก็บข้อมูล  วิธีการและความปลอดภัยในการเก็บข้อมูล รวมถึงระยะเวลาในการเก็บข้อมูลแต่ละประเภทต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความจำเป็นต่าง ๆ ด้วย ภายหลังจึงมีการสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในกลุ่มประเทศยุโรปและสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

3.1.1 ความรับผิดชอบของเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ประกอบการในการนำเอาข้อมูลของบุคคลอื่นมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ 

เมื่อศึกษาถึงกฎเกณฑ์ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูล (GDPR) กฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการกำหนดหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. หลักความชอบด้วยกฎหมายในการเก็บข้อมูล  ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 6
  2. หลักการเก็บข้อมูลต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และใช้ข้อมูลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นกับวัตถุประสงค์ ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 9 ยกตัวอย่างเช่นถ้าจะนำข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวไปประมวลผลจะต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้ง
  3. การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ออกแบบเทคโนโลยีต้องทำตามประมวลจริยธรรม และจะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการในบางประเภท รายละเอียดปรากฏอยู่ในมาตรา 40
  4. การนำข้อมูลไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่าระบบคลาวด์ (Cloud Server) ถ้าผู้ประกอบการนำข้อมูลไปเก็บไว้ในประเทศอื่น ๆ นอกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประเทศที่มีการนำข้อมูลมาฝากไว้จะต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านความมั่นคงไซเบอร์ในลักษณะเทียบเท่ากับกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป รายละเอียดปรากฎอยู่ในมาตรา 45
  5. การผลิตสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะหรือมีคุณสมบัติในการเก็บข้อมูลของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดแจ้งที่ตัวผลิตภัณฑ์ รายละเอียดปรากฎอยู่ในมาตรา 5 ของแนวปฏิบัติของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค (The Consumer Rights Directive 2011/83)

นอกจากที่ผู้เขียนกล่าวมา ก็มีเรื่องที่สำคัญซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคตที่เรียกกันว่า Privacy by Design หรือการควบคุมความเป็นส่วนตัวตั้งแต่กระบวนการออกแบบเทคโนโลยี รายละเอียดปรากฎอยู่ในมาตรา 25 ของกฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลฯและปรากฏอยู่ในมาตรา 5  ของแนวปฏิบัติฯ

3.1.2 สิทธิของผู้บริโภคในความยินยอมให้ใช้ข้อมูล

สำหรับผู้บริโภคนั้น  กฎหมายแบ่งเป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ

  1. สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่ถูกนำไปประมวลผลผ่านเทคโนโลยีฯ ซึ่งหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในมาตรา 15 ของกฎระเบียบฯ ภายหลังได้มีการกล่าวถึงกันมากในประเด็นเกี่ยวกับหลักการเรื่องกล่องนิรภัย หรือ กล่องดำ (Black Box) หมายถึง ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ว่าข้อมูลที่ถูกใส่เข้าไป (Input) ในเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ประมวลผลและข้อมูลในส่วนที่ถูกประมวลผลออกมานั้นถูกต้องแท้จริงหรือไม่ (Output) และเป็นไปในลักษณะใด
  2. สิทธิในการปฏิเสธไม่ให้นำข้อมูลบางประเภทไปใช้ในการประมวลผล สิทธิดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 21 ของกฎระเบียบฯ ซึ่งให้สิทธิในความยินยอมกับผู้บริโภคในบางเรื่องที่สำคัญ
  3. สิทธิที่จะไม่ให้มีการนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ในการประมวลผล ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา22 ของกฎระเบียบฯ ยกตัวอย่างเช่น การนำระบบ  V2I – Vehicle to Infrastructure หรือ ระบบเก็บข้อมูลอัตโนมัติจากผู้ขับขี่รถยนต์ เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลและแก้ปัญหา

สำหรับประเทศไทยนั้น มีกฎหมายอยู่สองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูล กล่าวคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

3.2 เทคโนโลยีกับการละเมิดสิทธิ

การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายได้ในหลายลักษณะ ทั้งนี้ผู้เขียนขอแยกเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

3.2.1 กฎหมายลักษณะละเมิดและการคุ้มครองผู้ที่ได้รับความเสียหาย

ประเด็นดังกล่าวหมายถึงกรณีเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในฐานะที่เป็น “สินค้า” และปรากฏข้อเท็จจริงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ดังนั้นในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหายรวมถึงปัญหาในการพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อย่างร้ายแรง

ปัจจุบันเราอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้  ภายหลังจากที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบโดยกลุ่มประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ศาลจะปรับใช้หลักกฎหมายลักษณะละเมิดโดยเทียบเคียงกับหลักความรับผิดของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน รายละเอียดปรากฎตามมาตรา 1385 ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การจะพิสูจน์ให้ผู้ก่อความเสียหายรับผิดได้นั้นจะต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล รวมถึงความประมาทเลินเล่อของผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นด้วยตามหลักเรื่องการดูแลรักษา หรือที่เรียกว่า Notion de Garde แต่ในทางปฏิบัตินั้น การพิสูจน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นในภายหลังจึงได้มีการบัญญัติกฎหมายพิเศษขึ้นมาในชื่อที่เรียกว่า  La loi du 25 février 1991 sous la responsabilité du fait des produits défectueux ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรป (Directive 85/374/CEE) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือได้รับความเสียหายจากการใช้งาน หรือ การบริโภค กฎหมายฉบับนี้ได้วางหลักความรับผิดเด็ดขาด(Strict liability) เอาไว้ในกฎหมาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น   บริโภคที่ได้รับความเสียหายไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความผิด แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าดังกล่าว แนวทางดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาใช้ในกฎหมายไทยเช่นกัน

สำหรับกฎหมายไทยเมื่อศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องดังกล่าวพบว่าการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. กรณีที่เกิดความเสียหายจากหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการขนส่งโดยใช้รถยนต์ไร้คนขับหรือการขนส่งทางอากาศโดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 บัญญัติไว้โดยมีสาระสำคัญว่าผู้ใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ครอบครองทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายโดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น ผู้นั้นจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำมาปรับใช้สามารถนำมาปรับใช้กับทรัพย์ที่มีรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นถ้าความเสียหายเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผู้เสียหายก็จะไม่อยู่ในขอบเขตที่จะดำเนินคดีตามมาตราดังกล่าวได้ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีกฎหมายพิเศษในเรื่องดังกล่าวที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยที่ในมาตรา 5 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อความเสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว โดยได้มีการนำหลักความรับผิดเด็ดขาดมาใช้ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย นอกจากที่กล่าวมา ในมาตรา 9 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ข้อตกลงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดความเสียหายเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดจะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นกับคู่สัญญาไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าดังกล่าวจึงไม่สามารถหลุดพ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย
  2. ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัยฯ ขาดความชัดเจนในการตีความกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นในมาตรา 4 ซึ่งเป็นบทนิยาม ได้มีการนิยามคำว่า “สินค้า” หมายถึงเฉพาะสังหาริมทรัพย์เท่านั้นซึ่งหมายความว่าทรัพย์นั้นจะต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยไม่เสียหาย  ดังนั้นในกรณีที่มีการนำเข้า ผลิต จำหน่ายหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นสังหาริมทรัพย์  ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเลี่ยงความรับผิดขึ้นได้
  3. สำหรับกฎหมายในการควบคุมการขนส่งบางประเภทนั้นมีการบัญญัติกฎหมายบางเรื่องที่ทำให้การนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาใช้เกิดปัญหาในการตีความ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายจราจรทางบก ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจราจรทางบก หรือ Vienna Convention on the Road Traffic, 8 November 1968 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 โดยมีการกำหนดว่ายานพาหนะในความหมายของกฎหมายจะต้องมีคนคอยควบคุมหรือขับขี่ กรอบทางกฎหมายดังกล่าวทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายควบคุมการจราจรทางบกของประเทศอิตาลี มาตรา 46  หรือแม้แต่ในกฎหมายไทยก็มีลักษณะเดียวกัน
  4. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ก็นำมาสู่ปัญหาในการขนส่งทางอากาศโดยเฉพาะในกฎหมายควบคุมการเดินอากาศซึ่งมีการกำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะในหลายเรื่อง เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปพบว่า ปัจจุบันมีกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องของการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (Regulation 2017/745) หรือที่เรียกว่า Unmanned Aerials Systems ทั้งนี้กฎระเบียบต่าง ๆ ถูกควบคุมโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า ICAO และ EASA (The European aerial systems) การควบคุมถูกนำมาใช้กับอากาศยานที่เรียกว่า “โดรน” หรือ “เครื่องบินไร้คนขับ”  ปัจจุบันมีการควบคุมน้ำหนักของอากาศยานและเขตพื้นที่ที่ต้องได้รับอนุญาตในการบิน หลักการดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในกฎหมายไทยเช่นกัน  ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ได้กำหนดถึงเรื่องการใช้อากาศยานอะไรนักบินไว้ใน มาตรา 24 ซึ่งถูกกำหนดว่าจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงินไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินรประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558  ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนฉบับที่ 94 ว่าด้วยกฎจราจรทางอากาศในข้อ 2 ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และเงินไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินสำหรับใช้งานเป็นการทั่วไป คำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินรประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก และกฎกระทรวงกำหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548 ข้อ2
  5. กฎหมายการแพทย์ กฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ เราสามารถแยกตามประเด็นดังต่อไปนี้
    ก) ความรับผิดทางแพ่งของแพทย์ผู้รักษานั้น ผู้เสียหายยากในการพิสูจน์ว่าความเสียหายสำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด เกี่ยวข้องกับความประมาทของแพทย์ผู้ทำการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นบทบัญญัติที่  L1142-1 ประมวลกฎหมายสุขภาพสาธารณะของประเทศฝรั่งเศส เหตุผลที่ยากแก่การพิสูจน์เนื่องจากว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดให้แพทย์ผู้ทำการรักษาโดยนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้กับคนไข้ต้องมีหน้าที่แจ้งข้อมูลกับคนไข้ที่ทำการรักษา ซึ่งกรณีนี้จะแตกต่างจากการนำยารักษาโรคที่เป็นอันตรายมาใช้กับผู้ป่วยเพราะกฎหมายกำหนดให้มีการแจ้งกับผู้ป่วยก่อนนำยาอันตรายมาใช้ในการรักษาโรค  รายละเอียดสามารถศึกษาได้ในคดี  Beaupère
    ข) การนำเทคโนโลยีมาใช้และในภายหลังเกิดความเสียหาย การดำเนินการหาผู้รับผิดที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นเรื่องยากเพราะเราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากส่วนไหนของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นสามารถเรียนรู้และตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้โดยอัตโนมัติ การดำเนินการดังกล่าวอาจจะทำให้แพทย์ผู้ทำการรักษากล่าวอ้างเพื่อหลุดพ้นความรับผิด หรือในทางตรงกันข้าม  แพทย์ไม่กล้ารักษาผู้ป่วยเนื่องจากกลัวความเสียหายที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ตนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดความเสียหายในอนาคตอย่างไร

3.3  เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับกฎหมายสัญญา

หลายประเทศได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการจ้างแรงงาน รวมถึงการทดแทนแรงงานบางประเภทที่ขาดแคลน ดังนั้น เราจะพบว่าถ้ามีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในรูปแบบของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หรือ หุ่นยนต์ในงานพาณิชย์กรรม (ขอบเขตของการใช้งานจะมีลักษณะเป็นรูปแบบของวัตถุที่มีรูปร่าง หรืออยู่ภายใต้นิยามของคำว่า “ทรัพย์” ในระบบกฎหมายของไทย) อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในลักษณะที่เป็นระบบปฏิบัติการ เช่น Chatbot หรือ Credit Scoring ซึ่งไม่ได้มีตัววัตถุที่มีรูปร่างมารองรับอย่างชัดแจ้ง การคุ้มครองตามกฎหมายจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

การทำนิติกรรมสัญญาในปัจจุบัน ผู้ประกอบการได้นำเอาเทคโนโลยีฯ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในหลายลักษณะ ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยสามารถสรุปได้เป็นสองหัวข้อกล่าว คือ 1. การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้เป็นวัตถุแห่งสัญญาและ 2. การนำเทคโนโลยีฯมาใช้ในลักษณะที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับผู้บริโภคดังต่อไปนี้

3.3.1 การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในลักษณะเป็นวัตถุแห่งสัญญา

เมื่อได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบ ผู้เขียนได้เลือกระบบกฎหมายนิติกรรมสัญญาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายของประเทศไทย

ประเทศฝรั่งเศสนั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือประมวลกฎหมายเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส, ประมวลกฎหมายแพงแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและ มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ ISO/TC 299  Robotique ผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 2 กรณีกล่าวคือ สัญญาในลักษณะที่ทำระหว่างผู้ประกอบการและผู้ประกอบการ (B2B) และสัญญาในลักษณะที่ทำระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้าหรือผู้บริโภค (B2C)


ความสัมพันธ์ของสัญญาในลักษณะที่ทำระหว่างผู้ประกอบการและผู้ประกอบการ (Business to Business)

สัญญาในลักษณะนี้คือสัญญาประเภทที่เรียกกันว่าเอกเทศสัญญาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของระบบกฎหมายไทย สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบในประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส เรื่องดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติมาตราที่ 1582,1179 ซึ่งลักษณะนี้สามารถนำไปปรับใช้กับทรัพย์สินที่มีรูปร่าง (Bien Corporel หรือในปัจจุบันเรียกว่า Progiciel) อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีของทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ลักษณะของการทำสัญญานั้นเป็นสัญญาว่าด้วยสิทธิในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นรูปแบบของสัญญาไม่มีชื่ออื่น ๆ หรือเป็นสัญญาในรูปแบบของการให้บริการ (Sui Generis) สัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดหนี้ผูกพันในลักษณะที่เป็นหนี้กระทำการซึ่งในที่นี้ก็คือการอนุญาตให้ใช้สิทธินั่นเอง ลักษณะของสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาส่วนมากจึงมีลักษณะดังกล่าว

นอกจากนั้น ปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กรณีที่สำคัญกล่าวคือ ส่วนที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูล ส่วนที่เป็นอัลกอริทึม และส่วนที่เป็นข้อมูล โดยทั่วไปคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้ให้บริการจะไม่โอนสิทธิในเทคโนโลยี หรือ โอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีไปยังคู่สัญญาอีกฝ่าย แต่จะทำสัญญาในลักษณะที่เป็นสัญญาการให้บริการกับอีกฝ่าย ดังนั้นจึงไม่มีการโอนทรัพย์สินในลักษณะของเอกเทศสัญญา (โดยทั่วไป สัญญาประเภทต่าง ๆ ในเอกเทศสัญญามักจะมีตัวทรัพย์ในการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินมีค่า หรือแรงงานที่สามารถตีราคาได้)  เหตุที่เป็นเช่นนี้มีเหตุผลมาจากความไม่ชัดเจนในสถานภาพทางกฎหมายขององค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล อัลกอริทึม ฐานข้อมูลและรหัสภาษาในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์  แน่นอนว่าในส่วนของฐานข้อมูลและรหัสภาษาโปรแกรม (Source Code) แม้ว่าทั้งสองกรณีนี้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นหลักการสากลแล้ว ยกตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 12 และมาตรา 30  แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดความเสียหายในภายหลังอย่างไม่อาจคาดเห็นได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่ชัดเจนของกฎหมายในปัจจุบันและการบังคับใช้กฎหมายระหว่างคู่กรณีที่มีประสิทธิภาพ คู่สัญญาจึงเลือกทำนิติกรรมในลักษณะที่เป็นสัญญาให้บริการ ในที่นี้มีความหมายในลักษณะของการก่อหนี้กระทำการ ไม่ใช่การก่อหนี้ในลักษณะของการส่งมอบทรัพย์สินตามกฎหมายสัญญา เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) นั้นเป็นการรวมกันของหลายสิ่งที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนในปัจจุบัน เช่น อัลกอริธึม และข้อมูลบางประเภท  เมื่อเป็นเช่นนั้น ความแตกต่างระหว่างสถานภาพที่เป็นทรัพย์สินตามกฎหมายนั้นจะก่อให้เกิดสิทธิในเรื่องของอุปกรณ์และดอกผลด้วย  แต่ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องทางหนี้ตามหลักกฎหมายนิติกรรมสัญญานั้น ผู้ให้บริการจะไม่สามารถที่จะเรียกร้องในดอกผลและอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ซึ่งเป็นไปตามหลักที่เรียกว่า  Accessorium Sequitur Principale อย่างไรก็ตาม คู่สัญญายังสามารถตกลงกันให้มีผลทางกฎหมายอย่างไรก็ได้ตามหลักอิสระในทางแพ่ง แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ เช่น หลักสุจริต  ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นต้น

หน้าที่ของคู่สัญญา

เมื่อกล่าวถึงหน้าที่ของคู่สัญญา การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ก่อให้เกิดหน้าที่ของคู่สัญญาหลายประการที่สำคัญ หน้าที่ประการหนึ่งของคู่สัญญาคือหน้าที่ในการให้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนก่อนเข้าทำสัญญาโดยสุจริต ยกตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาตรา 1134  ซึ่งหลักการดังกล่าวก็คือหลักสุจริตในระบบกฎหมายของไทยนั่นเอง อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับเทคโนโลยี Machine Learning ก็คือผู้ออกแบบเทคโนโลยีไม่สามารถคาดเห็นได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในอนาคต ดังนั้นหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงโดยสุจริตจึงเป็นไปได้ยากในช่วงเวลาก่อนและระหว่างทำสัญญาโดยเฉพาะในกรณีของสินค้าที่มีเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ

หน้าที่ของคู่สัญญาอีกประการคือ การส่งมอบสินค้าหรือบริการ คู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่จะต้องส่งมอบสินค้าจะต้องส่งมอบอย่างสมบูรณ์ ไม่ชำรุดบกพร่องและไม่ปกปิดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ส่งมอบ รายละเอียดปรากฎตามประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาตรา 1604  นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว คู่สัญญายังมีหน้าที่ที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายฉบับอื่น ๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น หน้าที่ของคู่สัญญาที่จะไม่ปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition) รายละเอียดปรากฎตาม  ประมวลกฎหมายเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาตรา VI 95  ทั้งนี้ได้กำหนดหลักการไว้สามข้อ

กรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจากสินค้าที่คู่สัญญาได้ส่งมอบหรือให้บริการหรือเกิดจากเจตนาทุจริตปกปิดข้อเท็จจริงในตัวสินค้าที่ทำสัญญาต่อกันย่อมก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่ง จากการศึกษาเปรียบเทียบตามประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาตรา 1648 ได้มีการกำหนดไว้ในเรื่องของ L’action rédhibitoire ให้คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาโดยการชดใช้ค่าเสียหาย ในระบบกฎหมายฝรั่งเศสนั้น ความรับผิดทางแพ่งรวมถึงบางเรื่องซึ่งออกเป็นกฎหมายความรับผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น ในกฎหมาย  La loi du 25 Fevrière 1991 Relatif à la responsabilité du fait des produits défectueux

ความสัมพันธ์ของสัญญาในลักษณะที่ทำระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค (Business to Customer)

คู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลครบถ้วนชัดเจนกับคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้บริโภคเนื่องจากมีรายละเอียดที่ถูกกำหนดเพื่อคุ้มครองสถานะของผู้บริโภคที่เสียเปรียบกว่า ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีรายละเอียดปรากฎตามประมวลกฎหมายเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาตรา VI 2 ทั้งนี้แยกออกเป็นประเด็นดังนี้

  1. การให้ข้อมูลลักษณะของตัวสินค้า (Principales caractéristiques du produit) มาตรา I 1 ประมวลกฎหมายเศรษฐกิจบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่มีขอบเขตการคุ้มครองที่กว้างขวางกล่าวคือ สินค้าและบริการรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง สิทธิเรียกร้องประเภทต่าง ๆ หลักดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม มาตรา 7 หรือ Directive 2011/83
  2. การให้ข้อมูลลักษณะหน้าที่การทำงานของตัวสินค้าที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รวมตลอดถึงความมุ่งหมายในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ (Fonctionnalités du contenu numérique) ในที่นี้หมายถึง ข้อมูลต่าง ๆ ของตัวผลิตภัณฑ์และวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หลักดังกล่าวได้นำเอาไปใช้ทั้งในส่วนของโปรแกรมคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน รายละเอียดปรากฎตามประมวลกฎหมายเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาตรา I8 นอกจากนั้น ในมาตรา VI 2 ยังได้มีการกำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยคู่สัญญามีหน้าที่ที่จะชี้แจงว่าเนื้อหานั้นจะถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ใดและวิธีการในการคุ้มครองข้อมูลต่างๆที่มีการเรียกเก็บจากผู้บริโภค ทั้งนี้ต้องชี้แจงข้อมูลต่างๆที่จำเป็นต่อผู้บริโภคด้วย เช่น ภาษาที่จัดเก็บหรือภาษาที่ใช้ในการพัฒนาระบบ ระยะเวลาที่จัดเก็บ ขนาดของข้อมูลที่จัดเก็บและขอบเขตในการนำเอาข้อมูลนั้นไปใช้งาน กระบวนการในการชำระเงิน รายละเอียดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม Directive 2011/83 Considérant numéro19
  3. กระบวนการในการจัดเก็บข้อมูล (Fourniture des informations) คู่สัญญามีหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงมาตรฐานและวิธีการในการเก็บข้อมูลด้วย ทั้งนี้เคยมีคดีที่วางบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าวชื่อว่าคดี Content Service 5 juillet 2012

นอกจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้ว การกำหนดเงื่อนไขในสัญญาของคู่สัญญาอยู่ภายใต้ขอบเขตบางลักษณะที่ไม่สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขได้เพราะจะทำให้เงื่อนไขดังกล่าวของสัญญานั้นเป็นโมฆะ หรือ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การตั้งเงื่อนไขในสัญญาที่ขัดกับหน้าที่ที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างชัดแจ้งในบางเรื่องกับผู้บริโภคหรือคู่สัญญา

กรณีดังที่กล่าวมานี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายของไทย ประเทศไทยมีกฎหมายบางเรื่องเพื่อเข้ามาควบคุมไม่ให้มีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา ยกตัวอย่างเช่นพระราชบัญญัติข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น


3.3.2 เทคโนโลยีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาหรือประธานแห่งสิทธิ

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในปัจจุบันในบางกรณีนั้น ตัวเทคโนโลยีอาจมีลักษณะที่เป็นคู่สัญญาตามกฎหมายโดยตรง เช่น ในกรณีของโปรแกรม Chatbot หรือ Crédit Scoring ซึ่งตัวเทคโนโลยีจะติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่สนใจเข้าทำสัญญา อาจจะเป็นกรณีสอบถามข้อมูลหรือขอคำปรึกษาก่อนเริ่มทำสัญญา ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ฯ อาจเป็นผู้ชักชวนให้เข้าทำสัญญาโดยไม่ได้มีการควบคุมจากมนุษย์  ทั้งนี้สามารถแบ่งได้เป็นสองช่วงเวลาที่จะต้องนำมาพิจารณาในกรณีดังกล่าว กล่าวคือ

  • ช่วงเวลาก่อนเกิดสัญญา เช่น การชี้ชวนหรือเชิญชวนให้เข้าทำสัญญาที่แชทบอร์ดอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง จนทำให้คู่สัญญาก่อเจตนาหรือตัดสินใจทำคำสนองจนเกิดสัญญาขึ้นมา
  • ) ช่วงเวลาในการเข้าทำสัญญา การที่คู่สัญญาเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นอาจจะส่งข้อมูลที่ผิดพลาดจนทำให้คู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้บริโภคตัดสินใจก่อเจตนาเข้าทำสัญญา ปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศที่ควบคุมในเรื่องดังกล่าว ก็คือเช่น United Nations convention on the use of electronic communications In international contract article 12 and 14 และ UNCITRAL model law On electronic commerce with Guide  to enactment 1996 Article 11-13  ซึ่งถือว่าเป็นกรอบทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กรณีเดียวกันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับบทบัญญัติในกฎหมายไทยก็น่าจะเทียบได้กับพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 15 (2) และในบางมาตราเช่นมาตรา 14 ก็น่าจะถือว่าเป็นบทบัญญัติที่สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในกฎหมายไทยทั้งสองมาตรายังไม่สามารถครอบคลุมบางประเด็นปัญหา ในภายหลังจึงได้มีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีการดำเนินการร่างกฎหมายในมาตรา 17/1 ประกอบกับหลักกฎหมายในเรื่องความสำคัญผิดในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีที่คู่สัญญาตัดสินใจเข้าทำสัญญาโดยเข้าใจผิดในสาระสำคัญหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการ

3.4 การกำหนดสถานภาพทางกฎหมายของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในกฎหมายปัจจุบัน

สถานภาพทางกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาของเทคโนโลยีฯ ที่เกิดขึ้น มีการตั้งคำถามในปัจจุบันว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้น เป็นทรัพย์สินตามระบบกฎหมายที่เป็นอยู่หรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์สินจะถูกแบ่งเป็นประเภททรัพย์สินประเภทใด ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสถานภาพมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยเกิดจากการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ การปรับใช้หลักความรับผิดทางแพ่งลักษณะละเมิด รวมถึงความรับผิดทางอาญา หลักดังกล่าวจะมุ่งไปสู่การตั้งคำถามว่าทรัพย์ชิ้นนั้นเป็นของใคร ทั้งนี้คำถามต่อมาก็คือเจ้าของทรัพย์นั้นได้ดูแลรักษาทรัพย์นั้นดีหรือไม่ ถ้าเจ้าของทรัพย์ประมาทเลินเล่อ ย่อมต้องรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น หลักกฎหมายดังกล่าวปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 อย่างไรก็ตาม ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่าความเสียหาย หรือความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากหุ่นยนต์ซึ่งมีลักษณะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่าง แต่เกิดจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการและเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์หรือถ้าความเสียหายเกิดขึ้นจากระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไรเนื่องจากไม่ได้มีบทบัญญัติใดครอบคลุมไปจนถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย แต่จากข้อเท็จจริงในปัจจุบันปรากฏว่ายังขาดความชัดเจนในทางวิชาการว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นทรัพย์สินหรือไม่
  2. การแก้ไขปัญหาจากคำถามที่ถูกตั้งไว้ในข้อที่ 1 นักกฎหมายจะต้องหาหลักการให้ได้ก่อนว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นมีสถานภาพเป็นทรัพย์สินหรือไม่ จากการศึกษาเปรียบเทียบระบบกฎหมาย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายรับรอง ซึ่งในที่นี้ต้องเริ่มต้นพิจารณาจากหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรใดคุ้มครองครอบคลุมไปจนถึงเรื่องดังกล่าว  ก็จะต้องไปพิจารณากฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้อง เมื่อศึกษาถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยในปัจจุบันก็จะพบว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่สามารถตีความครอบคลุมไปคุ้มครองถึงระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 1298 ได้บัญญัติไว้ว่า  “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” ซึ่งสรุปได้ว่าถ้าในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่มีบทบัญญัติที่จะคุ้มครองให้ได้ ก็จะต้องไปพิจารณาที่กฎหมายอื่นๆที่บัญญัติเอาไว้อย่างชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร  ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่กฎหมายพิเศษที่ถูกนำมาพิจารณาดังต่อไปนี้

3.4.1 การพิจารณาสถานภาพทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดอันเกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.

เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับดังกล่าว  ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากตัวสินค้าและ ผู้เขียนพบว่าในบทนิยามคำว่า “สินค้า” ตามบทบัญญัติมาตรา 4  มีสาระสำคัญว่า “สินค้า” หมายถึงสังหาริมทรัพย์และอาจจะขยายความรวมไปถึง “ไฟฟ้า” ด้วย นักวิชาการบางท่านเห็นว่าการตีความกฎหมายเพื่อคุ้มครองสถานภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สามารถนำบทนิยามดังกล่าวมาใช้ได้เพื่อให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้หมายถึงตัวไฟฟ้าโดยตรงตามความเข้าใจดังกล่าว แต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นประกอบไปด้วยสองส่วนที่สำคัญกล่าวคือ

ก) ตัวเทคโนโลยีที่ประกอบด้วยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านรหัสภาษาโปรแกรมและแบบแผนระเบียบวิธีที่เรียกกันว่า อัลกอริทึม
ข) ระบบฐานข้อมูลและข้อมูลประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาจประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสารสนเทศ

ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลประเภทต่าง ๆ ก็ยังมีสถานภาพทางกฎหมายที่คลุมเครือว่าเป็นทรัพย์สินหรือไม่ หรือถึงแม้จะเป็นทรัพย์สินตามระบบกฎหมาย ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์หรือระบบไฟฟ้าตามนิยามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ เมื่อได้ศึกษารายละเอียดก็จะทราบว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่ใช่ระบบไฟฟ้าตามความเข้าใจดังกล่าว ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จึงไม่อยู่ในสถานะเป็นสินค้าตามบทนิยามในกฎหมายฉบับนี้  เมื่อไม่ใช่ทรัพย์สินตามระบบกฎหมายนี้จึงต้องไปพิจารณากฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ ดังที่ผู้เขียนจะกล่าวในลำดับถัดไป

3.4.2 การพิจารณาสถานภาพทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522

เมื่อนำกฎหมายสิทธิบัตรมาศึกษาเปรียบเทียบ หลักการพื้นฐานของกฎหมายสิทธิบัตรมีลักษณะเป็นสากลกล่าวคือ การประดิษฐ์นั้นจะต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ นอกจากนั้น การประดิษฐ์จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติฯ สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า สิ่งประดิษฐ์นั้นอาจไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะถูกตีความว่ามีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 9 (2) ซึ่งห้ามจดทะเบียนสิทธิบัตรในกฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในประเด็นดังกล่าวนี้จะเกี่ยวข้องกับอัลกอริทึม  และในมาตรา 9 (3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ในประเด็นหลังนี้ มีข้อสังเกตว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Computer Implemented Inventions (CII) ซึ่งมีประเด็นในการศึกษาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

  • ก)  สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของ European Patent Convention นั้นปรากฏอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 52(2)(3) ซึ่งกำหนดว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถคุ้มครองในทุกสาขาของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการจดทะเบียนสิทธิบัตรนั้นถูกจำกัดขอบเขตห้ามจดทะเบียนในลักษณะเดียวกันกับที่พระราชบัญญัติฯ มาตรา 9 กำหนดเอาไว้ รายละเอียดดังกล่าวอยู่ในอนุมาตรา a) c) ของบทบัญญัติมาตรา 52 โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นอัลกอริทึม (Process Steps Expressed Mathematically)
  • ข) เมื่อเกิดความคลุมเครือว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากคอมพิวเตอร์อาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 อนุมาตรา a) b)  จึงต้องเข้าสู่กระบวนการตีความ ทั้งนี้การตีความประกอบไปด้วยแนวปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า Guidelines for examination in the EPO ซึ่งจะต้องพิจารณาประกอบกับคดีต่าง ๆ ที่เคยถูกพิจารณามาก่อนหน้านี้ หรือที่เรียกว่า Caselaw of the board of appeal เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน แม้ว่ากฎหมายจะไม่คุ้มครองกระบวนการประมวลผลหรือสูตรทางคณิตศาสตร์ซึ่งในที่นี้หมายถึงอัลกอริทึมก็ตาม  แต่แนวคำตัดสินได้มีการอธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์หรือกระบวนการที่ไม่ได้เชื่อมต่อไปสู่การประยุกต์นั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่ถ้าสามารถนำเอาไปประยุกต์กับการแก้ปัญหาทางเทคนิค หรือสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมก็สามารถที่จะมีคุณสมบัติเป็นสิทธิบัตรได้รายละเอียดปรากฎอยู่ในคดีที่ชื่อว่า VICOM/COMPUTER-RELATED INVENTION: EPOBA 1987 T 0208/84 (Computer-related invention) of 15 7 198
  • ค) การจะพิจารณาว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีลักษณะทางเทคนิคหรือไม่ (Technical Character) โดยแนวทางในการพิจารณาว่ามีลักษณะทางเทคนิคจะต้องพิจารณาว่ามีการแก้ปัญหาทางเทคนิค และเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทางเทคนิคในสาขานั้นมากน้อยเพียงใด รายละเอียดปรากฎอยู่ใน R 42(1)(a)(c)
  • ง) นอกจากผู้ขอจดสิทธิบัตรจะต้องพิสูจน์ว่าสิ่งประดิษฐ์มีลักษณะทางเทคนิคแล้ว ยังจะต้องพิสูจน์ว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หมายความว่ามีลักษณะที่สามารถแก้ไขปัญหาทางเทคนิคได้ดีขึ้นกว่าเดิม รายละเอียดปรากฎอยู่ในมาตรา 56 นอกจากนั้นขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรลุผลตามที่สันนิษฐานไว้ด้วยรายละเอียดปรากฎอยู่ในมาตรา 84 ถ้าการประดิษฐ์ดังกล่าวเปิดเผยไม่ละเอียดก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะถือว่าเปิดเผยอย่างไม่เพียงพอตามมาตรา 83
  • จ) ปัจจุบันมีคดีจำนวนมากที่ยื่นจดทะเบียนแล้วไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นงานอันมีสิทธิบัตรด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น คดี  T0172/03 Order management/ Ricoh (27/11/2003) สำหรับนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ หรือในคดี T0258 /03 Auction method/ Hitachi (21/04/2004) สำหรับระบบการประมูล หรือในคดีที่  T49/99 Information modeling/ INT  Computers ซึ่งสุดท้ายก็ถูกตัดสินว่าขาดลักษณะขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีคดีอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถยื่นจดทะเบียนได้ ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผู้เขียนยกขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าปัจจุบันนี้การยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การพิจารณาในลักษณะเดียวกับสำนักงานสิทธิบัตรของสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับผลการพิจารณาในสำนักงานสิทธิบัตรในประเทศอื่น ๆ รวมถึงในประเทศไทยด้วย ทำให้ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่าการคุ้มครองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นมีต้นทุนในการลงทุนค้นคว้าวิจัยจำนวนมหาศาลและเจ้าของเทคโนโลยีไม่เสี่ยงที่จะสูญเสียงานของตัวเองไปกับการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยที่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

ดังนั้นในทางปฏิบัติ เจ้าของเทคโนโลยีจึงเลือกพิจารณาแนวทางอื่นๆประกอบไปด้วยเพื่อหาหนทางในการคุ้มครองสิ่งที่ได้ลงทุนไป ยกตัวอย่างเช่น  การคุ้มครองในรูปแบบของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นหรือการนำสัญญามาใช้ในการคุ้มครองซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป

3.4.3 การพิจารณาสถานภาพทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

ตามเนื้อความของพระราชบัญญัติฯ งานอันมีลิขสิทธิ์ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้รวมถึงงานในแผนกวิทยาศาสตร์ด้วย หลักการดังกล่าวนี้อยู่ในบทบัญญัติมาตรา 6 ในทางตรงกันข้าม บทบัญญัติในวรรคสองไม่คุ้มครองงานลิขสิทธิ์ ถ้าปรากฏว่าเป็นความคิดหรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระเบียบ หรือวิธีใช้หรือทำงานหรือแนวความคิดหลักการการค้นพบหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์รวมถึงคณิตศาสตร์ นอกจากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อสังเกตบทนิยามของคำว่า “งานวรรณกรรม” ในมาตรา 4 เราจะพบว่าความหมายของงานวรรณกรรมนั้นรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย คำว่า “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” ซึ่งมีบทนิยามอยู่ในมาตราเดียวกันนี้ หมายความถึงคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใดก็ตาม สำหรับบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก็คือบทบัญญัติในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติฯ  บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองฐานข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บทบัญญัตินี้คุ้มครองการรวบรวมหรือการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่านและถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยการรวบรวมนั้นมีการคัดเลือก จัดลำดับ ดังนั้นถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปว่าพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ประเภทใดบ้างที่เกี่ยวข้อง

ผู้เขียนขอสรุปว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองที่รหัสภาษาโปรแกรมในลักษณะของงานวรรณกรรมและ  ฐานข้อมูลที่ถูกรวบรวมเรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองไม่ได้รวมถึง ประเภทของภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม เช่นภาษา Java หรือภาษา HTML และไม่คุ้มครองอัลกอริทึมเพราะถือว่าส่วนดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องของขั้นตอนหรือระเบียบวิธีซึ่งไม่สามารถคุ้มครองได้ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในการอธิบาย ผู้เขียนเลือกที่จะศึกษาเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายอื่นๆที่น่าสนใจ เช่นระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษและแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรปในการคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือ Directive 2009/24/EC On the Legal Protection of Computer Programs การคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกฎหมายอังกฤษถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายที่ชื่อว่า Copyright Designs and Patent Act 1988  มาตรา 3(1)ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถูกคุ้มครองในรูปแบบของงานวรรณกรรมเช่นเดียวกับระบบกฎหมายไทย(Literary work)โดยแยกศึกษาประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ได้รับการยืนยันในระดับสากลว่าไม่อาจได้รับความคุ้มครองเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ สิ่งนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับภาษาต่างๆของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อสาร บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่อาจครอบครองภาษาที่ใช้ในการสื่อสารได้ แต่ถ้าได้สร้างสรรค์โดยการนำภาษานั้นมาถ่ายทอดเป็นข้อความอันมีเนื้อหาสาระจึงจะได้รับความคุ้มครองในรูปของงานวรรณกรรม การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน สิ่งที่ได้รับความคุ้มครองคือรหัสภาษาโปรแกรม  ประเด็นอย่างที่ได้กล่าวมาเคยมีคำพิพากษาศาลอังกฤษวางบรรทัดฐานเอาไว้ในคดีที่ชื่อว่า SAS Institute Inc v World Programming Ltd
  2. อัลกอริทึม การตีความในระบบกฎหมายอังกฤษ  การคุ้มครองงานวรรณกรรมนั้นหมายถึงการแสดงออกซึ่งงานวรรณกรรม ทั้งนี้การแสดงออกซึ่งงานวรรณกรรมนั้นอาจรวมไปถึงความคิด ข้อเท็จจริง และองค์ประกอบทั่วไปซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองด้วย สำหรับอัลกอริทึมนั้น  ถือว่าเป็นผลต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการคำนวณเพื่อประมวลผลในการใช้งานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้นจึงไม่ได้รับความคุ้มครองในกฎหมายอังกฤษ
  3. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นนอกจากจะคุ้มครองในส่วนของการจัดวางรหัสภาษาโปรแกรมแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่อาจจะได้รับความคุ้มครอง  ยกตัวอย่างเช่น หน้าจอสัมผัส หรือการแสดงผลหน้าจอ (Screen Display) ทั้งนี้การแสดงผลหน้าจอนั้นประกอบไปด้วยการแสดงผลหน้าจอที่สื่อถึงความรู้สึกและการรับรู้ หรือที่เรียกว่า Look and Feel  และองค์ประกอบอีกส่วนที่เรียกว่า Graphic User Interface (GUIs) รายละเอียดสามารถศึกษาได้ในคดีที่ชื่อว่า Navitaire Inc v Easyjet Airline Co. and BulletProof Technologies, Inc.  ซึ่งในคดีดังกล่าว ศาลได้ตัดสินว่าการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นไม่ครอบคลุมไปถึงหน้าจอที่สื่อถึงความรู้สึกและความรับรู้ด้วย นอกจากคดีที่กล่าวมา ยังมีอีกคดีหนึ่งที่ศาลอังกฤษได้วางบรรทัดฐานที่น่าสนใจเอาไว้คือคดี  Nova Productions Limited v Mazooma Games Limited ในคดีนี้ โจทก์เป็นบริษัทที่พัฒนาโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์และต่อมาโจทก์ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยนั้นได้ลอกเลียนแบบส่วนที่เป็นงานกราฟฟิคและการออกแบบเฟรมหน้าจอของผู้ใช้งาน ศาลได้ตัดสินโดยวางหลักสาระสำคัญว่า แม้ส่วนที่แสดงผลหน้าจอของโจทก์และจำเลยจะมีความคล้ายถึงกัน แต่การทำซ้ำของจำเลยนั้นไม่ได้นำเอาส่วนที่เป็นสาระสำคัญของงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ที่เป็นวรรณกรรมของโจทก์ไปใช้ นอกจากนี้ศาลยังได้ตัดสินว่าส่วนประกอบที่เป็นความคิดพื้นฐานและไม่ใช่การแสดงออกซึ่งความคิด ไม่ควรจะได้รับความคุ้มครอง คำตัดสินของศาลเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาตรา 1 ว่าด้วยวัตถุแห่งสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ส่วนประกอบที่เป็น Look and Feel จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เป็นงานศิลปะ (Preparatory Decide Material) ยังได้รับความคุ้มครองอยู่ รายละเอียดปรากฎอยู่ในมาตรา 1 วรรคสอง

3.4.4 การพิจารณาสถานภาพทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.

การคุ้มครองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบของความลับทางการค้า ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เจ้าของเทคโนโลยีเลือกที่จะคุ้มครองเทคโนโลยีของตน กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองความลับทางการค้าปรากฏอยู่ในความตกลงทริปส์  มาตราที่ 39 ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ นั้นได้ตรากฎหมายออกมารับรอง สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ. ศ.

3.5 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับความสามารถในการเป็นประธาน หรือผู้ทรงสิทธิตามกฎหมาย

สำหรับในกรณีที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานโดยเฉพาะการสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์  หรือที่เรียกว่า  Computer Generated Work มีการตั้งคำถามกันมากว่างานสร้างสรรค์ดังกล่าวจะเป็นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเป็นของเจ้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  ประเด็นดังกล่าวนี้สามารถศึกษาเปรียบเทียบในระบบกฎหมายอื่น ๆได้ดังต่อไปนี้

3.5.1 การศึกษาเปรียบเทียบ: กฎหมายภาคพื้นยุโรป (Civil Law)และกฎหมายจารีตประเพณี(Common Law)

ประเด็นดังกล่าวนี้เคยมีคดีบรรทัดฐานอยู่สองคดี คือคดี Eva-Maria Painer v Standard VerlagsGmbH and Others และอีกคดีหนึ่งชื่อว่า  Infopaq International A/S v Danske Dagblades Forening ซึ่งทั้งสองคดีนั้นได้มีการตีความขยายความแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ (Directive 2001/29) ทั้งสองคดีนั้นมีการถกเถียงในประเด็นที่ว่างานดังกล่าวถูกสร้างสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะในคดีที่สองนั้นเป็นการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยรวบรวมและเรียบเรียงเพื่อเขียนข่าว ดังนั้นประเด็นที่ศาลตั้งข้อสังเกตก็คืองานดังกล่าวนั้นจะเป็นงานที่สร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์หรือไม่  เนื่องจากงานนั้นไม่ได้สร้างโดยศิลปินผู้สร้างสรรค์งานโดยตรง โดยข้อสรุปของคดีนี้ศาลตัดสินว่า งานดังกล่าวนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และเป็นงานของเจ้าของเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยสรุปว่างานดังกล่าวเป็นงานสร้างสรรค์อย่างแท้จริง (Originality) เพราะถึงแม้จะให้เทคโนโลยีช่วยทำให้งานออกมา แต่งานดังกล่าวก็สะท้อนถึงบุคลิกภาพของตัวผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้สร้างสรรค์ผลงานก็เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงและสร้างสรรค์งานในลำดับแรก

ประเด็นที่สำคัญที่ศาลตีความอีกประเด็นก็คือการขยายความหลักกฎหมายที่ชื่อว่า Skill and Labor หมายความว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานจะกล่าวอ้างว่างานดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของตนได้ก็ต่อเมื่อผู้สร้างสรรค์นั้นได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานดังกล่าว  สำหรับการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการเขียนข่าว หรืองานอื่น ๆ เช่น งานศิลปะ ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องพิสูจน์ได้ว่าเขาได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างไร ทั้งนี้ศาลจะดูที่ระดับของการเข้าไปแทรกแซงหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ว่ามากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับการทำงานของปัญญาประดิษฐ์โดยดูจากสัดส่วน

หลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในคดีของประเทศออสเตรเลียที่ชื่อว่า Corporation Ltd v Desktop Marketing Systems Pty Ltd คดีนี้ได้มีการขยายความในหลักการเรื่อง Skill and Labor โดยการเปรียบเทียบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในเชิงปริมาณ ศาลจะพิจารณาถึงระดับของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานระหว่างมนุษย์ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม ในเชิงคุณภาพนั้น ศาลจะพิจารณาว่าส่วนสำคัญของการสร้างสรรค์ที่ทำให้งานดังกล่าวกลายเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นมานั้นเกิดจากมนุษย์หรือเกิดจากเทคโนโลยี  แนวทางดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในการตีความของกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ยกตัวอย่างเช่น คดีในศาลของประเทศอังกฤษที่ชื่อว่า   Express Newspapers plc v Liverpool Daily Post & Echo [1985] FSR 306  ซึ่งคดีดังกล่าวนี้มีการวางบรรทัดฐานเพิ่มเติมที่น่าสนใจกล่าวคือ  งานสร้างสรรค์จะมีลิขสิทธิ์ได้จะต้องพิจารณาก่อนว่าการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นไปในลักษณะใด ถ้าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ช่วยในการทำงาน (ขยายความโดยความเห็นเพิ่มเติมของผู้เขียน) ยกตัวอย่างเช่น การใช้โปรแกรมแปลงเสียงที่บันทึกไว้ให้กลายเป็นตัวอักษรโดยเทคโนโลยีแปลงเสียงเป็นตัวอักษร  ซึ่งการสร้างสรรค์ดังกล่าวนั้น ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ  การวางโครงสร้างของการถ่ายทอดความรู้  การลำดับความคิด รูปประโยคที่ใช้อรรถาธิบายมาจากมนุษย์ ดังนั้นแล้วงานดังกล่าวจึงเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ได้เนื่องจากมนุษย์เป็นสาระสำคัญให้เกิดงาน อย่างไรก็ตาม ถ้างานสร้างสรรค์ดังกล่าวถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนสาระสำคัญและไม่มีการแทรกแซงหรือควบคุมหรือกำหนดโดยมนุษย์เลย งานดังกล่าวอาจถูกตีความได้ว่าเป็นงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์

ในภายหลังหลักการดังกล่าวจึงถูกขยายความให้มีความชัดเจนขึ้นโดยการตีความของศาลในประเทศแคนาดา โดยมีการวางบรรทัดฐานในหลักที่ชื่อว่า  Skill and Judgment  โดยในคดีนี้คือคดีที่ชื่อว่า CCH Canadian Ltd v Law Society of Upper Canada คดีดังกล่าวได้มีการวางหลักที่ตีความใหม่โดยกล่าวถึงความแตกต่างของนิยามคำว่า “ผู้ประพันธ์ (Author)” และคำว่า “ผู้สร้าง (Maker)” ทั้งนี้ในประเด็นของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ หรือที่ภาษาอังกฤษเราเรียกกันว่า Computer Generated Work นั้น ถ้าผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นผู้จัดวางในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของงานสร้างสรรค์ (ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า Arrangements nécessaire) งานสร้างสรรค์ดังกล่าวย่อมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลที่เป็นผู้สร้าง (Maker) ประเด็นของการตีความคำว่าผู้สร้างสรรค์ในระบบกฎหมายจารีตประเพณีนั้น

ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจยกตัวอย่างเช่น การวางหลักบรรทัดฐานที่ชื่อว่า Sweat of the Brow หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยหมายความว่า การทำงานด้วยอยาดเหงื่อแรงกาย หมายความว่า งานสร้างสรรค์นั้นควรเป็นงานลิขสิทธิ์ของผู้ที่ใช้ความพยายามวิริยะอุตสาหะจนงานดังกล่าวเกิดขึ้น หลักดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในคดีที่ชื่อว่า LADBROKE (FOOTBALL) LTD V WILLIAM HILL (FOOTBALL) LTD.: HL 1964 นอกจากหลักดังกล่าวก็ยังมีหลักการอื่นๆที่เรียกว่าหลัก Modicum of Creativity หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยน่าจะหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ที่พอประมาณซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ใน คดี Feist Publications inc v Rural Telephone Service  Co., Inc

3.5.2 กรณีของการตีความและขยายประเด็นดังกล่าวนี้  เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระบบกฎหมาย

สำหรับกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป เรื่องดังกล่าวมักจะไม่พบปัญหาในการตีความเนื่องจากว่าเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบนี้ได้มีการบัญญัติกฎหมายอย่างชัดเจนเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะเรื่อง หรือที่เราเรียกเป็นภาษาลาตินกันว่า Sui Generis ปัจจุบันนี้เมื่อมีกฎหมายใหม่ ๆ ซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ การตรากฎหมายจะแยกเป็นเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือไปจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากลุ่มเดิม

สำหรับเรื่องฐานข้อมูลอันเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองนั้นจะแยกออกจากระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ในกฎหมายเดิมโดยการคุ้มครองนั้น  มุ่งคุ้มครองในส่วนที่เป็นการ “ลงทุน” เพื่อให้ได้มาซึ่งงานสังสรรค์ดังกล่าว โดยพิจารณาที่การลงทุนเป็นสาระสำคัญมากกว่าการลงแรง  เรื่องดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในกฎหมายของหลายประเทศ  ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายของประเทศฝรั่งเศส สำหรับในประเทศไทยนั้น ยังไม่เคยมีการวางบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน   อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯได้กำหนดนิยามของคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่าผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ นอกจากบทบัญญัติดังกล่าว  มาตรา 12 ได้บัญญัติว่างานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่านหรือถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกัน หากผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันได้รวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันซึ่งงานดังกล่าวขึ้น โดยการคัดเลือกหรือจัดลำดับในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เมื่อนำสองมาตรามาประกอบการตีความ   ผู้เขียนเห็นว่าสำหรับกฎหมายไทยนั้นน่าจะตีความครอบคลุมไปจนถึงงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในมาตรา 12 นั้นยังมีข้อจำกัดสำหรับงานลิขสิทธิ์บางประเภทเท่านั้น

ดังนั้นในอนาคตเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา รัฐสภาควรตรากฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมินทร์ บุตรอินทร์
ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย

*อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1ตอนที่ 2ตอนที่ 3ตอนที่ 4

[1] *Klimczuk, Andrzej, Economic Foundations for Creative Ageing Policy, Volume I: Context and Considerations, Palgrave Macmillan, New York 2015, pp. 75-107; Klimczuk, Andrzej, “Supporting the Development of Gerontechnology as Part of Silver Economy Building”, Ad Alta: Journal of Interdisciplinary Research 2/2012, pp. 52-56.  ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/digital-single-market/en/news/silver-economy-study-how-stimulate-economy-hundreds-millions-euros-year

Share :

THNIC Facebook Page

Member of

โครงการของมูลนิธิ