บทความ

เศรษฐกิจสีเงิน หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์และกฎหมาย ตอนที่ 2/4 (ภูมินทร์ บุตรอินทร์)

on มีนาคม 9, 2020        by Naritcha

บทนำ

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มุ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาในยุคเทคโนโลยี 4.0. โดยเฉพาะการพูดถึง 4 ปัจจัยทางเทคโนโลยีที่พลิกผันสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เราเรียกว่า ABCD กล่าวคือ A – Artificial intelligence & Automation / B – Block chain / C – Cybersecurity & Cloud computing / D – Data โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกนำมาเรียกว่าเป็นการพัฒนา *เศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy) [1] อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศต้องอยู่ภายใต้กรอบของบริบทสังคมโลก นั่นก็คือการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) การนำเอาปัจจัยทางเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย  ปัจจุบันนี้กลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้เห็นความสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้แต่ก็ทราบดีว่าส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้มีการทำรายงานชี้แจงภายหลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลว่าเทคโนโลยีนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจการเมืองและกฎหมายอย่างไร

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ผู้เขียนขอสรุปเพื่อนำเสนอตามหัวข้อดังต่อไปนี้ 1) ผลกระทบต่อสังคม 2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมือง 3) ผลกระทบต่อกฎหมายในปัจจุบัน 4) ทิศทางในอนาคต

2. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันในหลายประเทศได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยสรุปจากรายงานสถิติและข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบซึ่งอ้างอิงจากเอกสารสำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น รายงานสรุปผลกระทบจากการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รายงานของสหภาพยุโรป ปี ค.ศ. 2012 เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในสังคมกับหุ่นยนต์ รวมตลอดถึงกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ในการควบคุมการใช้หุ่นยนต์ ผู้เขียนขอแบ่งออกเป็นประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

2.1. ปัญหาคนว่างงานและแรงงานทดแทน

จากสถิติในรายงานของสหภาพยุโรปว่าด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์  มาใช้ซึ่งรายงานฉบับนี้เสร็จสิ้นในปี 2015 และได้ข้อสรุปว่า ประชาชนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปร้อยละ 75 เห็นว่าการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้มีความสำคัญ แต่ร้อยละ 52 เห็นว่าควรนำเอามาใช้ในงานบางประเภทเท่านั้น เช่น การใช้งานในโรงงานผลิตหรืองานอันตรายรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย หรืองานก่อสร้าง  ส่วนงานอื่น ๆ นั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าควรต้องใช้คนทำงานอยู่เช่นเดิม จากรายงานสรุปว่าประเทศที่ยอมรับให้มีการนำเทคโนโลยีฯมาใช้มากที่สุดคือประเทศโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจได้ข้อสรุปว่า ประชาชนร้อยละ 70 มีความกังวลว่าเทคโนโลยีฯ นี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการตกงาน ซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการสำรวจจากกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเห็นด้วยให้มีการนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เพราะเป็นการลดต้นทุน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาจากการจ้างแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

2.2 ปัญหาการปรับตัวของธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานไม่เห็นด้วยให้มีการนำเอาเทคโนโลยีฯ มาใช้ ภาคของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมกลับเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เพราะเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การนำหุ่นยนต์ Chatbot ที่ชื่อ Tay มาใช้ในการทำงานของ บริษัท ไมโครซอฟท์ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาแทนแรงงาน เพราะสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน หรือหุ่นยนต์ที่ชื่อ Nextage ซึ่งเป็นของบริษัท Kawada Industrie

หุ่นยนต์ Nextage บริษัท Kawada Industrie

ปัจจุบันได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดผลิตหุ่นยนต์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากโดยเฉพาะในปี 2020 ก็ถูกคาดการณ์โดยสมาคมหุ่นยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ The Japan Robotics Association ว่าจะมีการส่งออกหุ่นยนต์ถึง 18,000,000 ตัว โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่ใช้ในการช่วยเหลือและหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ได้เกิดภาวะขาดแคลนพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะต้องมีพยาบาลผู้ปฎิบัติการอย่างน้อย 2,500,000 คน ถึงจะเพียงพอในการดูแลเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ส่วนบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้คำนวณว่าค่าใช้จ่ายในปัจจุบันสำหรับการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 60,000 ดอลล่าร์ต่อหัวต่อปี ดังนั้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนแรงงานที่ขาดแคนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับสหภาพยุโรปนั้นได้มีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุภายใต้นโยบายที่ชื่อว่า “อยู่กับบ้าน” (Vivre chez soi) โดยได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านและผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาติดเตียงโดยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษาตามโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์อัตโนมัติที่ถูกนำเอามาใช้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมในเรื่องของจริยธรรมการแพทย์ โดยถูกกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ใน Guidelines on Regulating Robotics, 22 September 2014

ปัญหาจากสังคมผู้สูงอายุก่อให้เกิดผลกระทบทั่วโลก ดังนั้นหลายประเทศจึงกำหนดแนวนโยบายเพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ที่ชื่อว่า แซมมี่ (Sami) ของศูนย์ศึกษาหุ่นยนต์สาธารณรัฐฝรั่งเศส (centre de robotique intégrée d’île de France)

หุ่นยนต์แซมมี่ (Sami) ศูนย์ศึกษาหุ่นยนต์สาธารณรัฐฝรั่งเศส (centre de robotique intégrée d’île de France)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นในบางประเทศจึงได้มีการตรากฎหมายขึ้นมารับรองให้เกิดความชัดเจนเพื่อคุ้มครองแรงงาน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ในปี ค.ศ. 2008. รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีการตรากฎหมายในชื่อ Intelligent robot development and distribution Promotion Act ซึ่งภายหลังได้ถูกปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ. 2016. ทั้งนี้ในกฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการกำหนดสาระสำคัญที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 3 บัญญัติว่า “รัฐบาลและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอในการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ” และในมาตรา 41 มีสาระสำคัญบัญญัติให้มีการก่อตั้งสถาบันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาหุ่นยนต์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย

สำหรับบางประเทศนั้นได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ในกฎหมายแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ในประมวลกฎหมายแรงงานสาธารณรัฐฝรั่งเศส มาตรา 1233-4 Loi n2015-990 ได้บัญญัติว่าในกรณีที่มีสัญญาจ้างลูกจ้างที่จะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างได้รับทราบก่อนทำงานเพื่อขอความยินยอมว่าจะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้หรือไม่ นอกจากนี้ในมาตรา L 2323-30 loi 2015-994 วรรคแรกบัญญัติว่านายจ้างที่จะนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้งานกับองค์กรจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทเพื่อหารือและขอความเห็นชอบก่อน เนื่องจากเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพนักงาน นอกจากที่กล่าวมาในมาตรา L1233-3 วรรคแรกได้บัญญัติไว้ว่า การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในองค์กรจะต้องไม่กระทบต่อการตัดสินใจในการจ้างงานของลูกจ้างที่ทำงานอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการประกันการทำงานของลูกจ้าง

ปัจจุบันหลายประเทศจึงได้มีการจัดโครงการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ระหว่างการใช้งานหุ่นยนต์ร่วมกับมนุษย์ในที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำโครงการที่ชื่อว่า Saphari, Safe and Autonomous Physical Human Aware Robot Interaction (2011-2015) หรือในประเทศสหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้จัดโครงการที่ชื่อว่า National Robotics Initiative เป็นต้น

2.3 การเตรียมพร้อมในการพัฒนาอาชีพใหม่ที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีในอนาคต

แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จะรู้ดีว่าการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ แต่การเตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง Moshe. Y. Vardi ศาสตราจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัย Rice ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำเอามาใช้ทดแทนแรงงานได้ทุกรูปแบบ นักวิจัยอีกสองท่านคือ Erik Brynjolfsson และ Andrew McAfee สถาบันเอ็มไอทีได้เขียนหนังสือชื่อว่า The Second Machine Age ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ของอินเตอร์เน็ตและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จะนำไปสู่การทดแทนแรงงานของมนุษย์โดยหุ่นยนต์ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งจำนวนมากที่เห็นว่าควรนำเทคโนโลยีมาใช้เฉพาะงานที่ถูกจำกัดไว้บางประเภทเท่านั้นเช่นงานทางด้านการผลิตงานก่อสร้างงานเกษตรกรรมงานทำความสะอาดและงานอื่น ๆ ที่ไม่ปลอดภัย

ดังนั้นแล้ว โดยสรุปสิ่งที่รัฐจะต้องคำนึงถึงในการกำหนดนโยบายซึ่งสอดคล้องกับรายงานปี 2012 ของ OECD คือ 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. อรรถประโยชน์ที่ได้จากการนำเทคโนโลยีมาใช้
  2. ลักษณะของงานและการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์
  3. การยอมรับจากสังคม

เมื่อนำปัญหาทั้ง 3 เรื่องมารวบรวมแล้ว การมุ่งศึกษาเปรียบเทียบถึงกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ  ดังนั้นในลำดับถัดไปผู้เขียนจะขอกล่าวถึงปัญหาของการนำกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมาธิบายและนำเสนอถึงแนวทางในการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีตามที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบในหลายประเทศอันจะกล่าวในลำดับถัดไป

รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมินทร์ บุตรอินทร์
ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย

*อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1ตอนที่ 2ตอนที่ 3ตอนที่ 4

[1] *Klimczuk, Andrzej, Economic Foundations for Creative Ageing Policy, Volume I: Context and Considerations, Palgrave Macmillan, New York 2015, pp. 75-107; Klimczuk, Andrzej, “Supporting the Development of Gerontechnology as Part of Silver Economy Building”, Ad Alta: Journal of Interdisciplinary Research 2/2012, pp. 52-56.  ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/digital-single-market/en/news/silver-economy-study-how-stimulate-economy-hundreds-millions-euros-year

Share :