พัฒนาการอินเทอร์เน็ตไทย ในมุมมอง “ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต”
ที่มา: THE STORY THAILAND
ในฐานะผู้ที่บุกเบิกนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาสู่ประเทศไทย และทำงานเกี่ยวพันในการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNICF) แสดงความเห็นกับ The Story Thailand ว่า การเปลี่ยนแปลงด้านอินเทอร์เน็ตของไทยในทุกวันนี้ มีทั้งมุมที่น่าชื่นชมและมุมที่น่าวิตกกังวล
ในแง่มุมที่น่าชื่นชม คือ การที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นประตูสู่การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานมาโดยตลอดอย่างรอบด้าน เรียกได้ว่า อินเทอร์เน็ตคือพื้นฐานของการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ยกตัวอย่าง เช่น การศึกษา ที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หมายถึง การเข้าถึงความรู้ในเรื่องที่คน ๆ นั้น อยากรู้อยากเรียนได้
ส่วนมุมที่น่าวิตกกังวล ก็คือ ประเด็นด้านความปลอดภัย (Security) ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาในเชิงเทคนิคของไทยเท่านั้น แต่ปัญหาด้านความปลอดภัยถือเป็นปัญหาทางเทคนิคในระดับสากลที่ทุกประเทศต่างต้องเผชิญหน้าร่วมกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้วอินเทอร์เน็ตถูกคิดค้นและพัฒนาเพื่อกระจายเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้คิดว่าจะมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายและหลากหลายจนกระทบต่อความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีกลุ่มคนนำอินเทอร์เน็ตไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่นการขโมยข้อมูล
ศ.ดร.กาญจนา เล่าว่า แนวทางการป้องกันภัยคุกคามจากโลกอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาภายหลัง หลังจากที่มีการใช้งานไปแล้วในระยะหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า ในฐานะทีมนักพัฒนาผู้อยู่เบื้องหลัง ย่อมคิดค้นหาแนวทางเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยอยู่เสมอ แต่ก็ติดขัดตรงที่นำมาตรการรักษาความปลอดภัยไปใช้ปฎิบัตินั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคนที่ใช้งาน หรือให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และการที่ต้องอาศัยขอความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง
“ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหา เพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่ใช่ลมหายใจ แต่ตอนนี้ อินเทอร์เน็ตเป็น (ลมหายใจ) แล้ว ถ้าเกิดมีคนปล่อยเชื้อโรคเข้ามาในลมหายใจนี้ เราก็อาจจะต้านไม่ทัน”
โครงสร้างและกำลังคน
นอกจากประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัย สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของสังคมไทย ก็คือ ความไม่พร้อมในเชิงโครงสร้างที่จะรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และความไม่พร้อมของคนในสังคมอันเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการรู้เท่าทันโลกดิจิทัล (Digital Literacy)
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล คือ ความแตกต่างด้านโอกาสระหว่างกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตได้ กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึง ทำให้คนกลุ่มหลังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์เพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือแสวงหาโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐได้
ขณะเดียวกัน แม้จะพยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้วยโครงการที่ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ ศ.ดร.กาญจนา กล่าวว่า สำหรับคนที่เกิดมาโดยไม่เคยมีอินเทอร์เน็ตมาก่อน เมื่อจู่ ๆ วันหนึ่งมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งาน ก็จะเกิดปัญหามากมาย เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารที่มีปริมาณมหาศาลล้นเหลือบนโลกออนไลน์ที่บางส่วนเป็นข่าวลวง ข่าวปลอม
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า คนกลุ่มนี้ รู้ไม่เท่าทัน หรือขาดความรู้ในด้าน Digital Literacy (การรู้เท่าทันโลกดิจิทัล) นั่นเอง
ในส่วนของปัญหาความไม่พร้อมในเชิงโครงสร้าง ศ.ดร.กาญจนา อธิบายว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ ส่วนที่เป็น Core Infrastructure ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก ๆ และส่วนที่เป็น โครงสร้างพื้นฐานปลายทาง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในเวลานี้ ก็คือ ระบบ 4G/5G
โดย ศ.ดร.กาญจนา กล่าวว่า ปัญหาในเชิงโครงสร้างถือเป็นปัญหาที่หนักอกไม่น้อย เพราะการเติบโตของอินเทอร์เน็ตในไทยขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตที่ขยายเครือข่ายด้วยการลากสายไฟเบอร์ สะเปะสะปะมาก และสายไฟเบอร์เหล่านี้ก็เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ปล่อยให้ผู้ให้บริการจัดการโครงสร้างพื้นฐานกันเอาเอง ตั้งแต่การลากสายไฟเบอร์ไปจนถึงปลายทาง ส่งผลให้ค่าบริการสูงขึ้น จนคนที่แม้จะอยู่ในเมืองบางรายไม่สามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตได้ สุดท้ายแทนที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กลับยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำหนักข้อมากยิ่งขึ้น
สำหรับมุมมองของ ศ.ดร.กาญจนา ปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นเพราะไทยขาด “ส่วนกลาง” ที่จะเข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ผลักภาระให้เอกชนแบกรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำบนโลกดิจิท้ลย่อมยากที่จะหมดไป
นอกจากนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยในเวลานี้ ยังเกิดขึ้นจากปัญหาในเรื่องของภาษา ที่อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย
กลายเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ในชนบทที่ต้องพี่งพาลูกหลานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตของไทยยังไม่พร้อมกับการรองรับการใช้งานของกลุ่มผู้พิการทุพพลภาพเท่าไรนัก
ความเสี่ยงด้านการผูกขาด
อีกหนึ่งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับวงการอินเทอร์เน็ตของไทยและทั่วโลก ก็คือ การที่บริษัทต่าง ๆ ผลิตแพตฟอร์มออกมาแข่งขันกัน ซึ่ง ศ.ดร.กาญจนา มองว่า การแข่งขันดังกล่าวของบริษัทไม่ได้หยุดแค่การพัฒนาแพตฟอร์ม หลายบริษัทเริ่มหยั่งลึกลงไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง
“ประเด็นหนึ่งที่เรากลัวกัน ก็คือว่า อินเทอร์เน็ตแต่เดิมจะต้องเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย(Network) เดียว แต่ในอนาคตเป็นไปได้ว่าจะมีเครือข่ายของบริษัทหนึ่ง บริษัทหนึ่ง และบริษัทหนึ่ง คือ ต่างฝ่ายต่างสร้างเครือข่ายของตนเอง ซึ่งอันนี้น่ากลัวกว่า เพราะว่าผลประโยชน์มหาศาล ทำให้การแบ่งผลประโยชน์ให้กับประเทศด้อยพัฒนาจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น”
ศ.ดร.กาญจนา อธิบายว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการแบ่งอินเทอร์เน็ตออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งไม่ใช่อุดมการณ์แรกสุดของการสร้างอินเทอร์เน็ตที่ต้องการเชื่อมโยงเข้าถึงทุกคนให้เกิดความเท่าเทียม
ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างจากในอดีตที่บรรดาบริษัทใหญ่ซึ่งครอบครองเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าพากันดูดเอาทรัพยากรจากประเทศด้อยพัฒนาไป โดย ศ.ดร.กาญจนา กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นอยู่ช่วงหนึ่งหลังการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต แต่สุดท้าย แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และใหญ่กว่าเดิม
แน่นอนว่า ความหวังและทางออกที่พอเป็นไปได้ก็คือการขอความร่วมมือ แต่ ศ.ดร.กาญจนา ยอมรับว่า การพูดคุยเพื่อขอความร่วมมือก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
“เราต้องไม่เอาชีวิตเราไปขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เราต้องให้ผู้ให้บริการรายเล็ก ๆ สามารถที่จะเติบโตได้ ถ้าผู้ให้บริการเล็ก ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยก็ถือว่าอันตราย และอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป นี่เป็นสิ่งที่เราก็กำลังสู้อยู่เช่นกัน ที่จะไม่ให้ผู้ให้บริการรายเล็ก ๆ หายไป” รองประธาน THNICF ระบุ
ไทยมีศักยภาพ แต่ขาด “แรงขับ”
ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ศ.ดร.กาญจนา มองว่า การแก้ปัญหาคือสิ่งที่สามารถทำได้ ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่แก้ยากยิ่งกว่า ก็คือ เรื่องของกำลังคน ที่ในขณะนี้ ยังมองไม่เห็น “คน” ที่จะเข้ามาร่วมด้วยช่วยปรับปรุงพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตของไทย ทำให้ไม่อาจคาดหวังกับการเจริญเติบโตทางอินเทอร์เน็ตของไทยนับต่อจากนี้ได้
อย่างไรก็ตาม การไม่มี ไม่ได้หมายความว่า คนไทยไม่เก่ง หรือด้อยประสบการณ์ ไทยมีคนเก่งที่มีศักยภาพอยู่มากมาย แต่ที่ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ส่วนหนึ่งมาจากการขาดแรงขับที่ผลักดันให้รู้สึกว่าตนเองต้องดิ้นรนขวนขวาย
“คนของเราแรงกดดันยังน้อย แรงกดดันที่ว่าจะต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอดยังต่ำกว่าประเทศอื่น” ศ.ดร.กาญจนา กล่าว ก่อนอธิบายว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ประชาชนเป็นฝ่ายริเริ่มพยายามขวนขวายด้วยตัวเอง หาทางออกด้วยตัวเอง คนไทยมักจะปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม
ขณะเดียวกัน การศึกษาของไทยยังขาดแนวทางที่จะโน้มน้าวจูงใจให้เด็กเก่งที่เลือกเรียนมาทางด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในแวดวงนี้อย่างจริงจัง ทำให้แม้จะมีเด็กเก่ง แต่สุดท้ายแล้วเด็กเก่งเหล่านี้ก็ไปทำอย่างอื่น ซึ่งยังไม่นับถึงกรณีความร่วมมือระหว่างคนไทยในต่างประเทศกับในประเทศที่แทบจะไม่มี ทำให้การพัฒนาสะดุดและขาดตอน
และสุดท้าย สิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาวงการอินเทอร์เน็ตของไทย ก็คือ แรงสนับสนุนจากคนไทยด้วยกันเอง
“เรามีโดเมนเนมของไทย มีแพลตฟอร์มที่คิดค้นขึ้นมา แต่คนไทยกลับไม่นิยม เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ที่คนของเขายินดีใช้โดเมนเนมของตนเอง แม้จะแพงกว่าก็ตาม” ศ.ดร.กาญจนา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: THE STORY THAILAND