บทความ

IDN (Internationalized Domain Name)

on ธันวาคม 9, 2019        by Naritcha

Internationalized Domain Name (IDN) หรือ โดเมนเนมอักขระท้องถิ่น คือ ชื่อโดเมนที่สามารถประกอบด้วยอักขระ (character) อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจาก 37 อักขระในรหัส ASCII ซึ่งได้แก่ การใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ (อักษรโรมัน) A-Z, ตัวเลขอารบิก 0-9 และเครื่องหมายยัติภังค์ (-)

แต่เดิมการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมถูกจำกัดให้ จดด้วยตัวอักขระ ASCII เท่านั้นเนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิคของระบบชื่อโดเมน ต่อมาเมื่อมีระบบ IDN เราจึงสามารถใช้ตัวอักษรภาษาไทยอันหมายรวมถึงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายอื่น ๆ ในภาษาไทย ในการกำหนดชื่อโดเมนได้

เช่น สมชาย.com สมศรี.ไทย

แม้ว่าโดเมนเนมในรูปแบบของภาษาท้องถิ่น IDN จะออกมาให้คนไทยได้ใช้รวมทั้งชาติท้องถิ่นอื่น ๆ อีกกว่า 350 ภาษาทั่วโลกมามากกว่า 1 ปีแล้ว แต่อาจเนื่องด้วยลักษณะการใช้งานที่ยังไม่เต็มรูปแบบหรือยังไม่มีใครมองให้เป็นโอกาสทางการตลาด ทำให้ที่ผ่านมา IDN ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในเมืองไทย มากนัก อย่างไรก็ดีความนิยมในการใช้โดเมนด้วยภาษาแห่งชาติมีมากในหมู่ชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอาหรับ ทำให้ ICANN ซึ่งเป็นองค์กรสากลในการ ดูแลจัดสรรทรัพยากรในระบบอินเตอร์เน็ต ออกมาประกาศว่านี่คือนวัตกรรมใหม่บนโลกcyber ที่จะสร้าง โอกาสใหม่ๆและประโยชน์ให้แก่ ประชาคมโลก

ปัจจุบันไม่ว่า จะเป็นดอทคอม (.com) หรือดอทท้ายสุดทั่วไปอื่นๆ รวมทั้งดอทท้ายสุด ที่เป็นรหัสประเทศเช่น.th , .uk ยังคงต้องพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ (ASCII characters) ทำให้ผู้ใช้ โดเมนภาษาท้องถิ่นระยะแรกยังคง ต้องกดแป้นพิมพ์เปลี่ยนภาษากลับไปเป็นภาษาอังกฤษอยู่ ในขณะเดียวกัน ICANN ก็เริ่มหันมาต่อยอดให้โดเมนอักขระท้องถิ่นขยายไปสู่ส่วนที่เป็นดอทท้ายสุด ด้วย โดยเริ่มกระบวนการหารือกับประชาคมอินเตอร์เน็ตโลก และในหมู่ชุมชนคนทำงาน ด้านเทคนิคระบบโดเมน อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2003 จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนา กระบวนการนำใช้เร่งด่วนเพื่อชักชวน ให้ผู้ดูแลโดเมนดอทท้ายสุดหมวดรหัสประเทศเข้าร่วมนำร่อง การใช้โดเมนอักขระท้องถิ่นในระบบจริง ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งมีโดเมนดอทท้ายสุดรหัสประเทศคือ .th ก็ได้ส่ง .ไทย ไปให้ ICANN พิจารณาอนุมัติ นี่จะเป็นโอกาสใหม่สำหรับใครหลายๆคนหรือไม่?

ความน่าสนใจของ IDN

1. สอดรับกับแนวโน้มการใช้ภาษาท้องถิ่นในการท่องเว็บ

ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปคุ้นเคย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีการเติบโตสูงในฝั่งผู้ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ คือเอเชียและแปซิฟิค และมีการแสดงพัฒนาการใช้ภาษาในส่วนประกอบต่างๆบนระบบอินเตอร์เน็ตในทิศทาง ที่สนับสนุนภาษาท้องถิ่น เช่นในผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้ใช้ภาษาอารบิค พยายามจะใช้ชื่อเว็บไซต์ที่ผสมกันระหว่างตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข เพื่อให้ออกมาในรูปแบบที่คล้ายการสะกดในภาษาอารบิค

ในขณะเดียวกันประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชีย อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็นิยมเข้าเว็บไซต์ผ่านทางเครื่องมือการค้นหาซึ่งสามารถใช้ภาษาท้องถิ่นแทน ที่การพิมพ์ชื่อโดเมนโดยตรงเป็นอักระ ASCII

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ google ไม่ประสบความสำเร็จในประเทศเกาหลี เพราะแอดเดรสบาร์ของบริษัทในประเทศที่ทำให้คนเกาหลีสามารถพิมพ์ภาษาเกาหลี เพื่อหาข้อมูลได้โดยตัดขั้นตอนเข้าสู่หน้าเครื่องมือการค้นหาออกไป

จากพฤติกรรมการใช้ภาษาท้องถิ่น ที่มีแนวโน้มจะเติบโตเคียงคู่ไปกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้ในเครือข่าย อินเตอร์เน็ต คุณสมบัติของ IDN จึงมีประโยชน์ในการเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก

2.แก้ไขข้อจำกัดทางภาษา

โดเมนอ่านง่ายและน่าจดจำด้วยภาษาที่กระชับและตรงตัวมากขึ้น

เนื่องจากระบบโดเมนเนมเริ่มต้นมาจากฝั่งผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ทำให้ในหลายๆกรณีคนไทยและคนชนชาติอื่นๆไม่สามารถจดชื่อโดเมนที่มีความหมาย ตรงกับเนื้อหาของเว็บไซต์ได้ เนื่องจากชื่อเหล่านั้นถูกจับจองไปหมดแล้ว ในที่สุดผู้จดจำนวนไม่น้อยก็แก้ปัญหาด้วยการจดชื่อภาษาอังกฤษที่มีความหมาย ตรงแต่ยาวเกินไป หรือจดชื่อให้อ่านออกเสียงแบบภาษาไทย ที่ยากต่อการอ่านออกเสียงและสะกด ส่งผลให้ไม่น่าจดจำและอาจทำให้ภาพลักษณ์ของสิ่งที่จะสื่อสารภายใต้ชื่อโดเมนนั้นๆไม่ชัดเจน

เพิ่มความหลากหลายในการใช้ชื่อโดเมน

wat = วัด (temple)
wat = วัฒน์ (progress)
wat = วัจน์ (speech)

จากตัวอย่างที่อ้างจากเอกสารนำเสนอของ Phisit Siprasatthong แสดงให้เห็นว่าอคำว่า Wat ในภาษาไทยนั้นสามารถเขียนได้หลายแบบซึ่งต่างๆกันไปในความหมายด้วย ดังนั้นการมีโดเมนอักขระท้องถิ่นจึงเพิ่มความหลากหลายในการเลือกใช้ชื่อโด เมนมากขึ้น จากเดิมที่ระบบรองรับเฉพาะตัวอักษรภาษาอังกฤษ ทำให้คนไทยและชนชาติอื่นๆถูกจำกัดในวิธีการใช้ชื่อในแบบภาษาตน

3. ส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำการตลาด (marketing)

ด้วยหน้าที่ของโดเมนเนมที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมที่สำคัญไปสู่ข้อมูลทั้งหมด ที่จะปรากฏในเว็บไซต์ ชื่อโดเมนจึงเป็นทั้งภาพลักษณ์(image) และอัตลักษณ์ (identity) ที่สำคัญสำหรับการสื่อสารทางการตลาดเป็นอันมาก ประกอบกับพฤติกรรมที่นิยมใช้ search engine ของผู้ท่องอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้ ชื่อโดเมนที่ไม่ชัดเจนอาจจะนำลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปยังคู่แข่งทางธุรกิจที่ มีโดเมนได้ไม่ยากเมื่อต้องเรียงลำดับตามผลการค้นหา

ในขณะที่ IDN จะทำให้เกิดการใช้รูปแบบตัวอักษรอันเป็นที่คุ้นเคย ซึ่งจดจำง่ายเกิดความคล่องแคล่วในการใช้ชื่อโดเมนในการเข้าสู่เว็บไซต์ ดังนั้นโดเมนในรูปแบบอักขระท้องถิ่นจึงเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มความ เข้มแข็งให้แก่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และยังช่วยขยายความสามารถเว็บไซต์ในการสื่อสารกับลูกค้าที่ไม่สะดวกใช้ภาษา อังกฤษ

4. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำ Search Engine Optimization (SEO)

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน SEO เป็นเครื่องมือสำคัญในการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ที่ได้ผล เนื่องจากทำให้เว็บไซต์สามารถติดอันดับต้นๆในผลลัพธ์ของเครื่องมือการค้นหา และเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้คลิกเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น

การทำ SEO ที่ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยองค์ประกอบที่เข้าหลักเกณฑ์จัดอันดับเว็บไซต์ของ เครื่องมือการค้นหาแต่ละตัว ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามโดเมนเป็นชื่อระบุที่อยู่ของเว็บไซต์ซึ่งเปรียบเสมือน keyword สำหรับเครื่องมือการค้นหา(search engine) ทุกตัวโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการที่ IDN ทำให้สามารถมีชื่อที่สะกดอย่างตรงตัวกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายจึงเป็นการเพิ่ม โอกาสให้กับการติดอันดับต้นๆเป็นอย่างมาก

5. เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ชื่อโดเมน

แม้จะมีผู้กล่าวถึงความสามารถของเครื่องมือการค้นหาและ address bar สมัยใหม่ที่ทำให้ค้นเจอเว็บไซต์ที่ต้องการเร็วขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งการพิมพ์ ชื่อโดเมนเนม อย่างไรก็ตามผลลัพธ์การค้นหาที่เป็นลิสต์รายการยังต้องอาศัยการตัดสินใจ เลือกจากผู้ใช้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการพิมพ์ URL ซึ่งจะมุ่งตรงไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการ

การที่เครื่องมือการค้นหาเข้ามามีบทบาทสูงในการเข้าสู่เว็บไซต์นั้น นอกจากอาจจะด้วยกรณีผู้ใช้ต้องการเห็นรายการเพื่อเลือกเข้าสู่เว็บไซต์ที่ เกี่ยวข้องกับความต้องการมากที่สุดแล้ว ยังมีบางสาเหตุที่สืบเนื่องมาจากการขาดประสิทธิภาพในชื่อโดเมน เช่น ผู้ใช้เว็บไซต์จำชื่อเว็บไซต์ไม่ได้หรือไม่แน่ใจในชื่อเว็บไซต์ เนื่องจากการสะกดที่อ่านยาก หรือ ผู้ใช้ไม่ต้องการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ที่ยาวจึงเลี่ยงไปใช้ Keyword แทนเป็นต้น

ดังนั้นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น IDN จะช่วยให้มีการตั้งชื่อเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะมีชื่อโดเมนสั้นลง และมีการสะกดเป็นที่น่าจดจำ ทำให้โดเมนทำงานตอบสนองผู้ใช้ได้ดีขึ้น และคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์และความสามารถที่แท้จริงชื่อโดเมน

ข้อโต้แย้งต่อ IDN

1. การพัฒนาของเครื่องมือการค้นหา

มีการกล่าวกันทั่วไปในผู้ที่สังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบอินเตอร์ เน็ต ถึงการพัฒนาของ search engine ที่ทำให้ผู้ใช้พิมพ์คำค้นบน address bar ได้และส่งผลให้การเข้าสู่เว็บไซต์โดยตรงผ่านโดเมนลดความสำคัญลง

2. ความสับสนในการใช้

เนื่องจากหลายๆภาษาที่แม้โดยทั่วไปจะมีความแตกต่างในเรื่องของรูปแบบตัวอักษร การเรียบเรียง ความหมาย การอ่านออกเสียง แต่เมื่อมีการเปิดใช้หลายๆภาษาร่วมกันดังเช่นในปัจจุบัน บริษัทนายทะเบียนในนามบริษัท Verisign ก็รองรับการจดทะเบียนมากกว่า350 ภาษา ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการร่วมกันบางประการในคุณสมบัติต่างๆของภาษาที่กล่าว ไป ซึ่งอาจนำไปสู่ความสับสนของผู้ใช้ และยังจะเป็นการเปิดช่องให้กับเหล่ามิจฉาชีพในการหาประโยชน์จากการสร้าง เว็บไซต์หลอกลวงขึ้นเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทจดทะเบียนหลายรายได้ออกนโยบายเพื่อแก้ความสับสนในกรณีนี้ เช่นในญี่ปุ่นและจีนมีปัญหาในเรื่องของการเขียนที่คล้ายคลึงกันในบางตัว อักษร ทำให้บริษัทจดทะเบียนในจีน ได้ออกนโยบายที่ทำให้ผู้จดที่แจ้งความประสงค์ในการจดเพียงชื่อเดียวแต่จะได้ รับชื่อโดเมนไปหลายชื่อตามจำนวนชื่อที่อาจสร้างความเข้าใจผิดได้( bulk registration) ในขณะที่บริษัทในญี่ปุ่นได้ออกนโยบายในกรณีนี้แบบจำกัดระงับชื่อที่อาจจะ คล้ายกับที่ได้มีการแจ้งจดมิให้ผู้ใดสามารถจดไปสร้างความสับสนได้ (block registration)

3. ความเสี่ยงในแง่ของเทคนิค

สืบเนื่องจากจุดร่วมที่อาจก่อให้เกิดความสับสนและความหลากหลายของรูปแบบตัว อักษร ทำให้การตัดสินเลือกวิธีการทางเทคนิคที่จะมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน นี้ เพิ่มความยากลำบากมากขึ้น และอาจจะเกิดรอยรั่วขึ้นมาในระบบที่จะส่งผลเสียระยะยาวต่อระบบโดเมนเนมในกาล ข้างหน้าได้

พัฒนาการของ IDN

IDN : ตั้งแต่โดเมนระดับสองเป็นต้นไป

IDN ออกสู่สาธารณะในปี 2000 โดยเริ่มต้นพัฒนามาจากชื่อโดเมนส่วนซ้ายของดอทท้ายสุดก่อน หรือศัพท์อย่างเป็นทางการเรียกว่า โดเมนระดับสองเป็นต้นไป ในขณะที่ชื่อโดเมนดอทท้ายสุดจะเรียกว่า โดเมนระดับบนสุด ซึ่งได้แก่ .com .net เป็นต้น

เหตุที่ IDN พัฒนามาจากส่วนนั้นเนื่องด้วยโครงสร้างการดำเนินงานในระบบโดเมนเนม ที่ผู้ดำเนินการในแต่ละโดเมนระดับบนสุด มีอิสระในการบริหารจัดการชื่อโดเมนระดับถัดไปที่อยู่ภายใต้โดเมนระดับบนสุด ที่ตนเป็นเจ้าของ และเมื่อเริ่มมีการแสดงออกถึงความต้องการ ใช้ภาษาท้องถิ่นในการเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตชัดเจนขึ้น บริษัทเวอริไซน์นายทะเบียนผู้ดูแลโดเมนเนมระดับบนสุดที่มีจำนวนจดทะเบียนมาก ทีสุดในโลก

ซึ่งได้แก่ .com และ .net ได้เริ่มเปิดให้จดทะเบียนชื่อโดเมนอักขระท้องถิ่นหรือ IDN ภายใต้โซนโดเมน .com และ .net โดยรองรับถึง 350 ภาษาในปี 2003 และปัจจุบันมีนายทะเบียนที่รับจดโดเมนอักขระท้องถิ่น IDN ประมาณ 47 รายทั่วโลก

IDN : โดเมนระดับบนสุด (TLD)

หลังจากนั้น ในปี 2007 ICANN ซึ่งเป็นองค์กรบริหารอินเตอร์เน็ตโลกได้เริ่มพิจารณาอย่างจริงจังที่จะขยาย IDN ไปสู่ส่วนที่เป็นโดเมนระดับบนสุด (TLD ; Top level Domain) ซึ่ง ICANN ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดูแลและจัดสรร โดยในส่วนของ gTLD (โดเมนเนมระดับบนสุดหมวดทั่วไป เช่น .com .net .org) ยังอยู่ในขั้นพิจารณาและพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปในกระบวนการ ขณะที่ในส่วนของ ccTLD (โดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ เช่น .th, .uk, .au) มีการจัดทำโครงการ IDN ccTLD Fast Track process (กระบวนเร่งรัดการนำใช้โดเมนเนมอักขระท้องถิ่นหมวดรหัสประเทศ) ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่างแผนปฏิบัติเพื่อการนำใช้ (Draft Implementation Plan) และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ดำเนินการ TLD ต่างๆ รวมทั้งส่วนภาครัฐและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแผนอย่างต่อเนื่อง

เริ่มครั้งแรกในวันที่ 15 ก.ค. 2008 และนำเข้าที่ประชุมทั่วไปของ ICANN ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ จากนั้นได้มีการพัฒนาแผนเรื่อยมา และมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมทั่วไป ณ กรุงเม็กซิโก ในต้นเดือนมีนาคม 2009 เพื่อรับทราบความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจาก ผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำไปปรับปรุงแผนอีกครั้ง โดยมีกำหนดการสำหรับเผยแพร่แผนที่ได้รับการปรับปรุงตามความเห็นทั้งจากชุมชน ทางเทคนิค และชุมชนที่เกี่ยวข้องฉบับสุดท้ายที่ การประชุมทั่วไปครั้งสุดท้ายของปี 2009 เพื่อคาดหมายว่าจะเปิดใช้จริงไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2010

IDN : โดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ (IDN ccTLD)

ปัจจุบัน มีผลตอบรับที่จะเข้าร่วมโครงการ IDN ccTLD Fast Track Process มาจากประเทศที่มีภาษาแตกต่างกันออกไปถึง 15 ภาษา

  • ประเทศกลุ่มอาหรับที่เข้าร่วมได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน อาหรับเอมิเรตส์ ซีเรีย ลิเบีย อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี
  • ใน ขณะที่ฝั่งทวีปแอฟริกาก็มีโมนาโก ตูนีเซียอีกหนึ่งชาติอาหรับฝั่งแอฟริกาเหนือ โดยประเทศโมนาโกจากฝั่งแอฟริการะบุแผนการปล่อยช้าที่สุดโดยต้องการ 18 เดือนสำหรับเตรียมตัว
  • ในฝั่งเอเชีย ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ อย่างจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ที่เข้าร่วม ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีประเทศไทยที่เตรียมความพร้อมในการใช้ดอทไทย(.ไทย) ภาย 1 ปีหลังจากเมื่อ ICANN ให้ดำเนินการตามแผนปฎิบัติ นอกจากนั้นยังมีลาว ศรีลังกา มองโกเลีย และภูฏานเข้าร่วมด้วย
  • ทางฝั่งยุโรปก็มีสวีเดนและรัสเซียที่พร้อมแล้วในการปล่อย IDN

อย่างไรก็ดี ตามขั้นตอนแผนปฏิบัติเพื่อนำใช้ IDN ccTLD ของ ICANN องค์กรผู้ดำเนินการทางด้านโดเมนเนม ผู้ดำเนินการร้องขอเข้าร่วม จะต้องมีเอกสารสนับสนุนจากทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศนั้นๆด้วย ซึ่งในกลุ่มประเทศที่ตอบรับกลับมา มีเพียง 5 ประเทศที่มีคำตอบตกลงจากทั้งส่วนของผู้ดำเนินการ ccTLD และส่วนของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ บัลแกเรีย อียิปต์ รัสเซีย สวีเดน และตูนีเซีย

ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลโดเมนหมวดรหัสประเทศของไทยที่ตอบรับไปโดยยังไม่มีคำตอบจาก ในส่วนของภาครัฐและระบุเวลาที่ต้องใช้ดำเนินการ 6-12 เดือน

ภาวะตลาดของ IDN

เนื่องจาก IDN ในส่วนของโดเมนระดับบนสุด ยังอยู่ในการพัฒนาแผนร่างนำใช้และรับฟังความคิดเห็น จากชุมชนอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง ในตลาดซื้อขายโดเมนเนมอักขระท้องถิ่น จึงยังจำกัดอยู่ส่วนของโดเมนตั้งแต่ระดับสองขึ้นไปเท่านั้น โดยในส่วนของบราวเซอร์ ที่รองรับ IDN ในปัจจุบัน ได้แก่ Firefox ตั้งแต่รุ่นที่ 1.0 ขึ้นไป, IE7, Opera และ Safari4

และแม้จะยังมีข้อจำกัดบางประการ ในตลาดซื้อขายโดเมนเนมอักขระท้องถิ่นก็ยังคึกคัก ตามข้อมูลจาก Sedo ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายโดเมน โดเมนอักขระท้องถิ่นบางตัวมีมูลค่าการซื้อขายสูงกว่า US $7000 และ ในขณะที่ Afternic ซึ่งเป็นตลาดประมูลและซื้อขายโดเมนเนมขนาดใหญ่เช่นกัน ก็มีโดเมนอักขระท้องถิ่นจำนวนหลายตัวมีที่มีมูลค่าการประมูลเกือบ US $1000 สะท้อนถึงความต้องการในโดเมนเนมลักษณะนี้เป็นอย่างดี

นอกจากโดเมนอักระท้องถิ่นในภาษาต่างๆแล้ว ยังมีโดเมนในรูปแบบที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับซื้อขายด้วย เช่น www..com เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการแบ่งส่วนซึ่งมีใช้ในบางประเทศปิดประมูลไปด้วยมูลค่าถึง US $7282

อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานผลสำรวจว่า ผู้ที่ซื้อโดเมนอักขระท้องถิ่นไปในราคาสูงนั้น สามารถแปลงให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เท่าไหร่ และมีศักยภาพในการช่วยให้เว็บไซต์ทำประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจมากขนาดไหน

แต่จากภาวะตลาดซื้อขาย IDN ในปัจจุบันที่มีความเคลื่อนไหวในทางบวก จึงมีความเป็นไปได้ว่าความต้องการ IDN จะสูงขึ้นอีกมากในอนาคตจากการขยาย IDN ไปสู่ระดับ TLD ด้วย ซึ่งจะทำให้ความสะดวกในการใช้โดเมนอักขระท้องถิ่น มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเนื่องจากทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนภาษาบนแป้นพิมพ์ หลายครั้ง

Share :

THNIC Facebook Page

Member of

โครงการของมูลนิธิ