ข่าวประชาสัมพันธ์-ข่าวสาร .TH

“APNIC 48” งานประชุมระดับนานาชาติ รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก

on กันยายน 12, 2019        by Administrator

จากซ้ายไปขวา • คุณมรกต กุลธรรมโยธิน • มร.กัวราบ ราจ อูพาดายา • ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต • พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ • มร.พอล วิลสัน

เชียงใหม่ – 10 กันยายน 2562 : มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) ร่วมกับ สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) เป็นเจ้าภาพท้องถิ่น ให้กับ ศูนย์ข้อมูลเน็ตเวิร์คแห่งเอเชียแปซิฟิก (APNIC) จัดงานประชุมเชิงวิชาการ APNIC ครั้งที่ 48 การประชุมสำคัญด้านอินเทอร์เน็ตของเอเชียแปซิฟิกมีสมาชิก APNIC กว่า 500 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 10 – 12 กันยายน 2562 ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน เชียงใหม่

“APNIC 48” เปิดประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กันยายน 2562 มี มร.กัวราบ ราจ อูพาดายา ประธานเอพีนิค, พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช., ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิทีเอชนิค, คุณมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ร่วมกล่าวเปิดการประชุม ภายในงานมีผู้แทนจากหน่วยงานผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล, ผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์, หน่วยงานราชการและสถาบันวิจัยจากประเทศไทยและทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม โดยในตลอดการประชุมทั้งสามวันมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ รวมถึง มร.เจฟ ฮูสตัน, Internet Hall of Fame มาแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ กับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีการนำเสนอหลากหลายหัวข้อ เช่น ความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต, เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

 มร.พอล วิลสัน, ผู้อำนวยการเอพีนิค เปิดเผยว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีสำหรับสมาชิกด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจากทั่วภูมิภาคจะได้พบกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน, ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุด, แบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนต่างชาติ และร่วมสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้กลับมาจัดงานประชุมที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่เคยจัดครั้งแรกเมื่อ 17 ปีที่แล้ว และมีความยินดีอย่างยิ่งที่ผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม APNIC ที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ เพื่อร่วมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของโลก”

ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต, รองประธานมูลนิธิทีเอชนิค กล่าวว่า “ทีเอชนิคเปิดรับจดทะเบียน .th มา 30 ปีแล้ว เริ่มจากการรับจดทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในปี 1988 จนปัจจุบันจัดตั้งเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ดูเรื่องการจดทะเบียน โดยอาศัยส่วนรวมจากหลายภาคส่วนในการกำหนดนโยบายด้านชื่อโดเมน นอกจากนี้ มูลนิธิยังสนับสนุนการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในด้านต่าง ๆ อีกด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างอินเทอร์เน็ตในรูปแบบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสู่ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายแบบ Mesh บริหารจัดการโดยชุมชนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งโครงการพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลาง เพื่อสร้างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ ตามมาตรฐานสากลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มูลนิธิทีเอชนิค มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ APNIC จัดการประชุมครั้งนี้ที่เชียงใหม่  สมาชิกด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงจะได้มีโอกาสอันดีในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปสู่การทำงานด้านพัฒนาอินเทอร์เน็ตร่วมกัน ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ”

คุณมรกต กุลธรรมโยธิน, นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า “APNIC ย่อมาจาก Asia Pacific Network Information Center เป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรเลขหมายอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เลขหมายอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนที่อยู่ที่ทำให้เราส่งข้อมูลไปมาบนอินเทอร์เน็ตได้ การประชุม APNIC48 เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายทั่วโลก มีทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ร่วมประชุมในรูปแบบ Workshop Training หารือประเด็นต่าง ๆ ทั้งทางนโยบายและเทคนิค  APNIC จัดงานครั้งแรกเมื่อปี 1999 และจัดต่อเนื่องมาทุกปีตามประเทศต่าง ๆ และเคยมาจัดที่ประเทศไทยเมื่อปี 2002 ครั้งนี้นับเป็นการกลับมาอีกครั้งในรอบ 17 ปี ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้อยู่ในวงการอินเทอร์เน็ตของไทย จะสามารถพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในประเทศไทย”

นอกจากนี้ ก่อนการประชุม APNIC 48 ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคนิคในวันที่ 5-9 กันยายน มีผู้เข้าร่วมอบรมจากทั่วโลกในหลายหัวข้อ อาทิ Advanced BGP, Software Defined Networking, Network Security และ IPv6 Deployment and Routing Security

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุม APNIC 48 สามารถดูได้จากเว็บไซต์การประชุม https://conference.apnic.net/48

Link ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Share :

THNIC Facebook Page

Member of

โครงการของมูลนิธิ