การใช้ภาษาไทยในเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของคน ไทย
“ภาษาไทย” เป็นภาษาประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทย ภาษาไทยเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ในโลกออนไลน์การสื่อสารควรมีความหลากหลายเพื่อเชื่อมโยงให้ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไร้ข้อจำกัด ดังนั้น การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีระบบติดต่อสื่อสารกลางที่สามารถใช้เชื่อมโยงกับคนทั้วโลกได้นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในระดับสากลได้มีองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตร่วมกันก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่า “การยอมรับเป็นสากล” (Universal Acceptance หรือ UA) ซึ่งเป็นมาตรฐานและเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประเทศที่มีภาษาท้องถิ่น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไทยบางส่วนที่ไม่ถนัดใช้ภาษาอังกฤษสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการออนไลน์ต่างเห็นถึงความสำคัญ และร่วมกันยกระดับมาตรฐานตาม UA ในการใช้ภาษาไทยสำหรับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของคนไทย
มาถึงจุดนี้หลายท่านอาจคิดว่า หากเราใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยจะทำให้การติดต่อสื่อสารกับภายนอกด้วยภาษาอื่นมีปัญหา หรือหากไม่ฝึกภาษาอังกฤษแล้วจะส่งผลให้เราเป็นประเทศที่ไม่เจริญหรือไม่ ต้องบอกว่าประเด็นนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะ “การยอมรับเป็นสากล” (Universal Acceptance หรือ UA) นั้นมีความตระหนักและมุ่งหวังให้ทุกคนไม่ว่าจะใช้ภาษาใดสามารถสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตได้
ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยและอีเมลภาษาไทย จะทำในฝั่งผู้ใช้อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีฝั่งผู้พัฒนาบริการระบบออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันส่งเสริมและลดข้อจำกัดการเข้าถึงและใช้บริการบนโลกอินเทอร์เน็ตนี้ และยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยระบบด้วย
ในด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต กลุ่ม Thai IDN & EAI โดย มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมเป็นสมาชิกดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็น THNIC, TNS, AIT, ThroughWave, Thaiware Communications ฯลฯ ได้ร่วมกันทำงานในด้านการพัฒนาและการใช้งานชื่อโดเมนภาษาไทยในระดับบนสุด คือ “.ไทย” (ดอท ไทย) ซึ่งเป็นชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่นในระดับบนสุด (Internationalized Domain Name) หรือเรียกว่า Thai IDN รวมถึง อีเมลภาษาไทย (Email Address Internationalization) ภายใต้ชื่ออีเมล@คน.ไทย จนสามารถให้บริการบัญชีอีเมลภาษาไทยแก่คนไทยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในปีนี้ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Academy) เปิดอบรมและสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับ Universal Acceptance หรือ UA โดยผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถดูรายละเอียดและหัวข้อได้ที่ https://academy.thnic.or.th/webinars-on-eai