BKNIX ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกให้ความรู้ด้านการใช้ระบบ DNS เพิ่มความปลอดภัยไซเบอร์
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ มูลนิธิทีเอชนิค และ บริษัท บีเคนิกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็น กลางแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ได้จัดเวทีประชุม BKNIX Peering Forum 2019 ขึ้นเป็นปีที่ 4 มื่อวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 20 เพื่อเป็นโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และเปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตและด้านความปลอดภัยหลายท่านเข้าร่วมงาน
รศ.สุรศักดิ์ สงวนพงศ์ กรรมการมูลนิธิทีเอชนิค กล่าวว่า “การจัดงาน BKNIX Peering Forum ในปี้นี้ เราได้รับเกียรติจาก ดร.พอล วิกซี (Paul Vixie) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฟาร์ไซท์ ซีเคียวริตี จากสหรัฐอเมริกา และยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ “Internet Hall of Fame” ด้านนวัตกรรม จากองค์กร Internet Society ในปี 2014 มากล่าวปาฐกถาและแบ่งปันความรู้ในเรื่องของความปลอดภัยบนไซเบอร์และการใช้ระบบ DNS เป็นเครื่องมือหนึ่งด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่น่าจับตาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในระยะเวลาอันใกล้”
“เราจัดงาน BKNIX Peering Forum อย่างต่อเนื่อง เพราะงานนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของการให้บริการอินเทอร์เน็ตระดับประเทศ ทั้งเรื่องของการที่ผู้ให้บริการไทยจะได้รับความรู้จากบุคคลชั้นนำในวงการระดับโลก การแลกเปลี่ยนความรู้และโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน สืบเนื่องไปถึงการที่ผู้ใช้บริการทั่วไปจะได้รับบริการที่มีการพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มยิ่งขึ้นในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะในครั้งนี้ เรามีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 200 คน ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยจัดมา และยังมีผู้ร่วมงานต่างชาติ 14 ประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านเราให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากเป็นพิเศษกว่าปีก่อน ๆ” ดร.สุรศักดิ์ กล่าวเสริม
ทั้งนี้ภายในงาน BKNIX Peering Forum 2019 นี้ ประกอบด้วยหัวข้อที่กำลังอยู่ในความสนใจมากมาย อาทิ DNS as a Defense Tool, Securing Internet Routing, ASEAN Connectivity, 5G Driven Mechanism และหัวข้ออื่น ๆ อีกมากมาย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Cloudfare, SuperNAP, APNIC, ISOC เป็นต้น
นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับวิทยากรดังกล่าวแล้ว ในงานยังจัดให้มีจุดเจรจาหาความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs), ผู้ให้บริการโครงข่ายจัดส่งข้อมูล (CDNs), ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDCs), ผู้ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณ (Carrier), ผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล (IXPs) และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, กานา, ฮ่องกง, อินเดีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เมียนมา, รัสเซีย, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และเวียตนาม เป็นต้น ซึ่งมีผู้อยู่ในธุรกิจสื่อสารและอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมงานกว่า 200 คน
สำหรับงาน BKNIX Peering Forum 2019 เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากหลากหลายองค์กร อาทิเช่น Symphony, NBTC, APNIC, Facebook, Netflix, NTT Communications Thailand, TCC Technology, 3BB, Akamai, AWS, INET, Internet Society, Supernap, THNIC Company และ NSRC ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้พบตัวแทนจากองค์กรเหล่านี้ในงานอีกด้วย