บทความ

เศรษฐกิจสีเงิน หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์และกฎหมาย ตอนที่ 1/4 (ภูมินทร์ บุตรอินทร์)

on มีนาคม 5, 2020        by Naritcha

บทนำ

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มุ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาในยุคเทคโนโลยี 4.0. โดยเฉพาะการพูดถึง 4 ปัจจัยทางเทคโนโลยีที่พลิกผันสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เราเรียกว่า ABCD กล่าวคือ A – Artificial intelligence & Automation / B – Block chain / C – Cybersecurity & Cloud computing / D – Data โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกนำมาเรียกว่าเป็นการพัฒนา *เศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy) [1] อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศต้องอยู่ภายใต้กรอบของบริบทสังคมโลก นั่นก็คือการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) การนำเอาปัจจัยทางเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย  ปัจจุบันนี้กลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้เห็นความสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้แต่ก็ทราบดีว่าส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้มีการทำรายงานชี้แจงภายหลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลว่าเทคโนโลยีนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจการเมืองและกฎหมายอย่างไร

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ผู้เขียนขอสรุปเพื่อนำเสนอตามหัวข้อดังต่อไปนี้ 1) ผลกระทบต่อสังคม 2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมือง 3) ผลกระทบต่อกฎหมายในปัจจุบัน 4) ทิศทางในอนาคต

1. ผลกระทบต่อสังคม

สำหรับการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในประเด็นเรื่องปัญหาของอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ  ผลกระทบทางด้านจิตวิทยาสังคมและความเป็นส่วนตัว สรุปดังต่อไปนี้

1.1 ความเป็นส่วนตัว

เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ต่อยอดออกไป เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะนั้น เป็นการหลอมร่วมกันของอัลกอริทึมและข้อมูลภายใต้การควบคุมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ในการประมวลผลประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสารสนเทศ และฐานข้อมูล ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการรักษาทางการแพทย์ทั้งที่เป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้พิการ รวมตลอดถึงเครื่องมือวินิจฉัยและผ่าตัดทางการแพทย์ การนำเทคโนโลยีดังกล่าวยังนำเอาไปใช้กับการขนส่ง เช่น รถยนต์อัตโนมัติซึ่งสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการเดินทางและเส้นทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ในอนาคตอันใกล้มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะนำเอามาใช้ในที่พักอาศัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในการทำความสะอาดบ้าน หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงคนป่วยที่ต้องรับการดูแลเป็นประจำ ดังนั้นขอบเขตในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญ

หลายประเทศได้มีการพูดถึงแนวทางในการเก็บข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้มีการออกกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปที่เรียกกันว่า General data protection regulation 2016/679 หรือเรียกชื่อย่อว่า GDPR เพื่อมากำหนดขอบเขตในการเก็บและประมวลผลข้อมูล เช่น ประเภทข้อมูลที่ถูกจัดเก็บ ระยะเวลาที่จัดเก็บ กลุ่มต่าง ๆ ที่ถูกจัดเก็บ เช่น ข้อมูลของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้เยาว์ รวมถึงสถานที่ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้และความปลอดภัยหรือมาตรฐานของเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล  สำหรับประเทศไทยนั้นในปัจจุบันได้มีการบัญญัติกฎหมายที่มีชื่อว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

1.2 ปัญหาของอาชญากรรมรูปแบบใหม่

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนตัว ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลักลอบนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องระมัดระวัง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลช่วงเวลาของผู้อยู่อาศัยในเคหสถานซึ่งผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถนำไปประเมินช่วงเวลาในการเข้าโจรกรรมได้อย่างแนบเนียน หรือการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กและเยาวชน อาทิเช่น ของเล่นเด็ก เกมออนไลน์ในปัจจุบัน ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการฉ้อโกง หรืออีกตัวอย่างก็เช่น การนำข้อมูลการใช้งานรถยนต์  ผู้ไม่ประสงค์ดีก็สามารถทราบและเตรียมการในการโจรกรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยดูจากช่วงเวลาในการใช้งาน สถานที่ ๆ ขับขี่จากต้นทางไปยังปลายทาง ดังนั้น เรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์หรือสินค้าที่ถูกนำออกมาใช้กับผุ้บริโภค

1.3. ความเหลื่อมล้ำ

การนำเทคโนโลยีฯมาใช้ย่อมก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่าง ๆ เพราะผู้ใดที่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีย่อมมีความได้เปรียบในหลายทางเช่น การรักษาทางโรคโดยใช้การแพทย์ที่ทันสมัยและปลอดภัยกว่า ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ผ่าตัดหรือการวินิจฉัยโรคที่มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้อย่างแม่นยำ หรืออุปกรณ์ที่เป็นหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้พิการเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างปกติ การล่วงรู้ถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นโรคติดต่อหรือโรคประจำตัว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในระบบประกันภัยและส่งผลต่อการคิดเบี้ยประกันภัยที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นยังรวมถึงปัญหาของแรงงานที่จะถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนโดยเฉพาะงานประเภท 3D กล่าวคือ Dirty Danger Dull ซึ่งรัฐบาลผู้กำหนดนโยบายจะต้องคิดถึงมาตรการในการแก้ปัญหาเหล่านี้

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot Type)

1.4 การเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัตินั้นอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทางในการพัฒนาเทคโนโลยี กล่าวคือ ทรรศนะคติของผู้พัฒนาโปรแกรม หรือทัศนคติของการกำหนดกระบวนการ ระเบียบวิธี หรือ อัลกอริทึม ซึ่งมีต่อกลุ่มคนที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา รถสนิยมทางเพศ และรถสนิยมทางการเมือง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแนวความคิดในเรื่องของเทคโนโลยีกับจริยธรรม เช่น การแก้ปัญหา Trolley Paradox ในโครงการพัฒนาที่ชื่อ Moral Machine ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารถยนต์ไร้คนขับเบรกแตกและก่อให้เกิดอุบัติเหตุแบบฉับพลัน การควบคุมรถจะต้องวิ่งชนกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่กีดขวางซึ่งมีจำนวน 5 ชีวิต (ในที่นี้อาจจะมีทั้งมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ เช่น สุนัข) เมื่อเทียบกับการตัดสินใจเลี้ยวรถเพื่อไปชนกับสิ่งมีชีวิตอีก 3 ชีวิต แต่ทั้ง 3 ชีวิตนั้นเป็นมนุษย์ รถยนต์ไร้คนขับจะตัดสินใจอย่างไรให้เหมาะสมระหว่างจำนวนชีวิตที่เสียหาย หรือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพว่ามนุษย์มีค่ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ การตัดสินใจดังกล่าวของเทคโนโลยีนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังรวมถึงปัญหาการแยกประเภทของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และเด็ก ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านี้ ยังจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปอีกพอสมควร

1.5. ผลกระทบด้านจิตวิทยาสังคม

การนำเทคโนโลยีไปใช้ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น การนำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กหรือผู้พิการ ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างผู้ใช้กับหุ่นยนต์

จากผลสำรวจที่สรุปได้จากรายงานผลกระทบของสหภาพยุโรป ได้ข้อสรุปว่า ร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรที่ทำแบบสอบถาม ไม่เห็นด้วยให้นำเอาหุ่นยนต์มาใช้ดูแลกับผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก แต่น่าจะนำไปใช้ในภาคส่วนอื่น ร้อยละ 34 ไม่เห็นด้วยให้เอามาใช้กับเรื่องของการศึกษา ร้อยละ 27 ไม่เห็นด้วยในการนำไปใช้ในการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 86 ของประชากรในสหภาพยุโรปไม่เห็นด้วยให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้กับเด็กและผู้สูงอายุ

1.6 กระบวนการยุติธรรม

เนื่องจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับกระบวนการยุติธรรมโดยการนำข้อมูลต่าง ๆ มาประมวลผลโดยอัตโนมัติย่อมก่อให้เกิดการทำนายแนวทางการดำเนินคดีได้ และอาจส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมโดยสร้างความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่างเช่น การทำนายว่ากฎหมายเรื่องต่าง ๆ ของแต่ละประเทศใช้ระยะเวลาในการบัญญัติกฎหมายนานแค่ไหน การทำนายผลแพ้ชนะของคดีโดยรวบรวมจากสถิติประเภทคดีที่ผู้พิพากษาท่านใดท่านหนึ่งพิจารณาคดี รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินคดีตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงขั้นศาลสูงสุด เทคโนโลยีสามารถประเมินได้ว่าใช้ระยะเวลานานแค่ไหนและการลงทุนในการฟ้องร้องคดีจะคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถทำนายค่าเฉลี่ยของคดีได้อีกด้วย เช่น กฎหมายเรื่องใดถูกแก้ไขบ่อย แต่ละจังหวัดมีคดีประเภทใดจำนวนมากกว่ากัน รวมถึงการทำนายผลคดีของแต่ละภูมิภาค  แต่ละเขต ซึ่งทำให้คู่ความที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสามารถประเมินและวางแผนว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ เพื่อให้คุ้มค่าไปกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ยกตัวอย่างเช่น ระบบ Moniteur Belge. Juridat databank. Legal tech. เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนนักกฎหมาย โดยนำมาใช้ในการช่วยเหลืองานกฎหมายเบื้องต้น ยกตัวอย่างเช่น Legalife (Nat74) อนึ่ง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานทางกฎหมายถูกเรียกว่า Lex. Machina.

รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมินทร์ บุตรอินทร์
ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย

*อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1ตอนที่ 2ตอนที่ 3ตอนที่ 4

[1] *Klimczuk, Andrzej, Economic Foundations for Creative Ageing Policy, Volume I: Context and Considerations, Palgrave Macmillan, New York 2015, pp. 75-107; Klimczuk, Andrzej, “Supporting the Development of Gerontechnology as Part of Silver Economy Building”, Ad Alta: Journal of Interdisciplinary Research 2/2012, pp. 52-56.  ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/digital-single-market/en/news/silver-economy-study-how-stimulate-economy-hundreds-millions-euros-year

Share :